วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555

วิธีปะยางจักรยาน

วันนี้ผมออกไปปั่นจักรยานเพื่อออกกำลังกายตามปรกติ พอปั่นไปได้ประมาณ 20 กว่ากิโลเมตร ผมสังเกตุ เห็นยางจักรยานด้านหลัง มันจะยวบๆ ผิดปรกติ ผมเลยจอดแล้วลองเอามือ ขวาบีบดู ก็รู้ทันทีว่า โดนแจ๊กพอตแล้วเรา เพราะมันน่วมเลย แต่ยังโชคดีที่รูมันไม่ค่อยใหญ่มาก แค่ซึมๆ ผมเลยรีบปั่นกลับบ้านทันที เพราะวันนี้ผมไม่ได้พกยางอะไหล่มาด้วยครับ ตอนปั่นกลับก็สังเกตุไปด้วยว่ายางมันแบนกว่าเดิมมากหรือเปล่า ถ้าแบนมากผมถึงจะจอดแล้วเปลี่ยนยางใน แต่มันแค่ซึมเลยสามารถปั่นประคอง กลับถึงบ้านได้พอดีครับ นี่ขนาดว่าผมเป็นคนที่สังเกตุเส้นทางตอนปั่นดีแล้วนะครับยังพลาดได้ อย่างนี้คงต้องโทษพวกคนที่มักง่าย ชอบทิ้งขวดแก้วเปล่าตามข้างทาง ผมขอบ่นหน่อยนะครับ เวลาผมออกไปปั่นจักรยาน จะเจอบ่อยมากครับ พวกขวดเบียร์, ขวดเครื่องดื่มชูกำลังทั้งหลาย ไม่รู้ว่าเขาทิ้งลงมากันได้ยังไง ผมว่าพวกนี้บาปมากครับ ไม่คำนึงถึงตอนพระท่านออกบิณฑบาต ตอนเช้าๆ ท่านอาจโดนเศษแก้วเหล่านี้บาดเท้าเอาได้ครับ ผมไม่ชอบเลยครับพวกมักง่ายพวกนี้ บางทีปั่นจักรยานออกกำลังกายไป ก็เห็นเขาขว้างออกมากจากรถซะงั้น เห็นแล้วเพลียใจจริงๆ ครับพวกนี้

ไหนๆ ยางก็รั่วไปแล้วก็ต้องกลับมาปะกันละครับทีนี้ วันนี้ผมเลยจะมาแชร์ วิธีปะยางรถจักรยาน ให้เพื่อนๆ ได้ทำกันเองได้ครับ หลายคนอาจจะยังทำไม่เป็น ส่วนท่านที่ทำเป็นแล้วก็อ่านอีกได้ครับ เพราะวิธีของผมอาจจะไม่เหมือนใคร เพราะผมเป็นคนค่อนข้างละเอียด เวลาทำอะไรแล้วต้องทำให้ดีครับ เปรียบได้กับงานศิลปะ ที่ต้องทำให้เนียนครับ เพ้อไปนั่น!! งั้นเรามาดูกันเลยครับ ว่าทำกันยังไง

อุปกรณ์ในการปะยางจักรยาน


อุปกรณ์ในการปะยางจักรยาน

  1. อุปกรณ์สำหรับงัดยางออกมาจากขอบล้อ ที่เห็นเป็นสีขาว, น้ำเงิน และแดง นั่นแหละครับ โดยส่วนตัวผมจะไม่ใช้ที่มันโลหะครับเพราะว่า มันจะทำให้ขอบล้อของเราเป็นรอยได้ง่ายครับ ผมเลยเลือกที่เป็นพลาสติก ถึงจะเป็นพลาสติกแต่ทนมากนะครับ ชุดนี้ผมซื้อมาได้เกือบ 3 ปีแล้วครับยังใช้งานได้ดีอยู่ครับ
  2. กระดาษทรายใช้เบอร์ประมาน 180 กระดาษทราย เบอร์ยิ่งเยอะยิ่งเนื้อหยาบครับ เช่น เบอร์ 1000 นี้ละเอียดมากครับ แต่มันใช้ปัดยางไม่ค่อยเข้าครับ ผมจะแนะนำให้ใช้ ระหว่าง เบอร์ 150 - 180 ครับผมคิดว่ากำลังดีเลยสำหรับยางรถจักรยาน ครับ
  3. กาวสำหรับปะยางครับ หลอดละ 5 บาท เดี๋ยวนี้ราคาอาจจะขึ้นแล้วครับ ผมว่าไม่น่าเกิน 10 บาทครับ หรืออาจจะซื้อเป็นกระป๋องก็ได้ครับ ยี่ห้อ KKK หากใครจะรับจ๊อบหารายได้พิเศษด้วยการบริการรับปะยาง ผมแซวเล่นนะครับ!!
  4. ยางสำหรับปะแบบสำเร็จรูปครับ อันละ 1 - 2 บาท แล้วแต่ร้านที่เราไปซื้อครับเขาขายราคาไม่เท่ากันครับ
  5. ส่วนที่เห็นเป็นน็อต สีทองๆ นั้นไม่เกี่ยวครับ พอดีมันแอบมาโชว์ตัว หลายท่านอาจไม่ทราบครับว่ามันมีไว้ทำอะไร ผมบอกให้ก็ได้ครับ มันเป็นอแดปเตอร์ สำหรับต่อที่จุกลมจักรยานเสือหมอบ ครับให้เราสามารถสูบลม โดยใช้ที่สูบลมทั่วไปได้ครับ ผมจะเอาติดตัวไปด้วยครับเวลาออกไปปั่นจักรยาน เพราะหากเกิดยางรั่วขึ้นมา หากเราเปลี่ยนยางแล้ว เวลาเราสูบลมเข้าไปโดยใช้ที่สูบลมแบบพกพา มันจะสูบได้ไม่แข็งครับ ผมเลยพกเจ้าน็อตตัวนี้ไปด้วยเผื่อเวลาเจอปั้มน้ำมัน หรือร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ จะได้เข้าไปสูบลมเพิ่มให้แข็งตามต้องการได้ครับ ผมว่ามันสำคัญนะครับ

ขั้นตอนในการปะยางรถจักรยาน


  1. ใช้ที่งัดยางทำการงัดยาง ออกมาจากขอบล้อจักรยาน ขั้นตอนนี้ผมไม่ได้ถ่ายรูปไว้ผมต้องขออภัยไว้ด้วยครับ
  2. สูบลมยางจักรยานนำยางในออกมาสูบลมเข้าพอประมานตามรูปครับ ไม่ต้องสูบเยอะครับแค่พอประมาณก็พอครับแล้วนำไปจุ่มน้ำเพื่อหารอยรั่วครับ






  3. ทำเครื่องหมายรอยรั่วจักรยานพอเราเจอรอยรั่ว แล้วเราก็ใช้ปากกาทำเครื่องหมายไว้ครับ สังเกตุ ผมจะวงกลมไว้ แล้วใช้กระดาษทรายที่เราเตรียมไว้ขัดรอบๆ จุดที่เราทำเครื่องหมายไว้ก่อนจะได้ไม่หลงครับ พอขัดรอบๆ เสร็จเราก็ขัดตรงกลางที่เราทำเครื่องหมายไว้ได้เลยครับ ส่วนจะขัดให้กว้างขนาดไหนนั้น เราจะขัดให้กว้างกว่า ที่ปะยางสำเร็จรูปนิดหน่อยครับ เวลาขัดก็ไม่ต้องออกแรงกดมากครับแค่ลูบๆ ก็พอครับเดี๋ยวยางทะลุครับ จุดประสงค์แค่ให้พื้นผิวสะอาดก่อนที่เราจะทากาวแค่นั้นเองครับ
  4. ทากาวยางจักรยานพอขัดเสร็จก็ทากาวได้เลยครับ ทาให้ทั่วตรงบริเวณที่เราขัดทำความสะอาดครับไม่ต้องหนามากครับพอดีๆ แล้วทิ้งไว้ประมาณ 2- 3 นาที เพื่อให้กาวแห้ง และหายเยิ้มครับ




  5. ที่ปะยางจักรยานสำเร็จรูปนำที่ปะยางสำเร็จรูปแปะไปตรงที่เราทากาวไว้ครับ แล้วบีบนวดให้แน่นๆ เพื่อให้ทั้งสองส่วนติดกันดีขึ้นครับ







  6. ปะยางจักรยานสำเร็จแล้วลอกแผ่นลองยางสำเร็จรูปออกครับ จะได้ยางที่ปะแล้วอย่างสวยงาม แล้วสามารถนำไปใช้ในโอกาสต่อไปได้ครับ ประหยัดดีครับ ไม่ต้องซื้อใหม่บ่อยๆ





  7. ยางจักรยานเมื่อปะแล้วม้วนยางที่เราทำการปะแล้ว เก็บให้เรียบร้อยสวยงาม โอ้ว!! เหมือนตอนที่ซื้อมาใหม่ๆ เลย แต่ขอโทษ เส้นนี้ 2 แผลแล้วครับ ประหยัดเงินในการเป๋าไปได้ 200 กว่าบาท อีกต่างหาก




และแล้วเราก็ได้ยางที่ทำการปะเรียบร้อยแล้ว เราก็สามารถนำติดตัวไว้ เวลาออกไปปั่นจักรยานครั้งต่อไป เพื่อเป็นยางอะไหล่ เวลาเกิดยางรั่วได้ครับ เห็นไหมครับว่ามันไม่ยากเลย ลองหัดทำดูกันได้ครับ แถมยังประหยัดเงินอีกด้วยครับ ก่อนปะก็ดูสภาพยางก่อนนะครับ หากมันดูเปื่อยยุ่ย มีรอยถลอกเยอะๆ ก็ควรเปลี่ยนใหม่ดีกว่าครับ


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ: เกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆในการดูแลรักษาจักรยาน

1 comments:

จะลองทำดูครับ ^ ^

แสดงความคิดเห็น