จักรยานก็ต้องการการดูแลรักษาบ้างครับ ไม่ว่าจักรยานนั้นจะราคาถูก หรือแพงก็มีโอกาสพังได้เช่นกันครับ หากขาดการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องทำทุกวันก็ได้นะครับเดียวคนเห็นเข้า เขาจะหาว่าเราบ้าเกินไป แต่ผมไม่แคร์สื่อครับ หากผมออกไปปั่นจักรยาน กลับมาผมต้องเช็คระบบ และทำความสะอาดมันทุกครั้งครับ จนคนทั่วไปจากที่ว่าผมบ้า ก็เฉยไปเลยครับหลังๆ ไม่เห็นว่าอะไรครับได้แต่ดู อยู่ห่างๆ หากเป็นสมัยที่ผมยังปั่นจักรยานแข่งขันอยู่ ช่วงนั้นหายใจเข้าออกก็เป็นจักรยานหมดครับ เช็ดมันได้ทุกวัน ขนาดไม่ได้ออกไปปั่นยังเอามาเช็ดเลยครับ หลายคนที่รักจักรยาน คงเข้าใจความรู้สึกนี้ดีครับ และยังมีเกร็ดเล็กน้อยที่หลายคนอาจจะมองข้ามไป แต่ผมว่ามันสำคัญนะครับ ถึงจะเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยทำกัน วันนี้ผมเลยจะมาแชร์ ประสบการณ์เหล่านี้ให้ผู้ที่ยังไม่รู้ได้ทราบกันครับ ซึ่งมีดังต่อไปนี้ครับ
สิ่งเล็กๆน้อยๆที่ไม่ควรมองข้ามในการดูแลรักษาจักรยาน
- การปล่อยลมยางทุกครั้งหลังจากออกไปปั่นจักรยานกลับมา ซึ่งข้อนี้เป็นข้อที่ทุกคนที่เห็นผมทำจะถามเสมอว่าผมปล่อยยางรถผมทำไม ผมก็ตอบไปว่าเพื่อรักษาสภาพยางให้สามารถ ใช้ได้นานๆ คือยึดอายุการใช้งานของยางได้ครับ เพราะว่าเราออกไปปั่นจักรยาน ซ้อมแต่ละครั้งนั้นนักปั่นคงรู้ว่าเราต้องสูบลมเข้าไปในยางไม่ต่ำกว่า 80 P.S.I. กันเลยทีเดียว บางท่านอัดไปจนเต็มที่เลยครับ คือ 120 - 150 P.S.I. ดังนั้นยางจึงได้รับความกดดันสูง หากเราไม่ปล่อยลมยางออก เมื่อปั่นเสร็จจะทำไห้ยางมีอายุการใช้งานน้อยลงนั้นเองครับ โดยการปล่อยลมยางนั้นไม่ต้องปล่อยจนแบนนะครับ แค่พอบีบแล้วรู้สึกนิ่มๆ ก็พอครับ
- คลายก้ามเบรคทุกครั้งหลังจากปั่นจักรยานเสร็จ เพื่อยึดอายุการใช้งานสปริงของก้ามเบรคครับ ซึ่งผมได้ถ่ายรูปรถจักรยานของผมเองมาครับ หลายคนคงงงว่าผมยังใช้ก้ามเบรคระบบนี้อยู่หรือ มันเป็นของที่ผมซื้อไว้สมัยก่อนตอนผมยังเด็ก แต่ไม่ได้ใช้ครับ ตอนผมประกอบรถคันนี้เลยทุ่นเงินไปได้หลายตังเลยครับ เป็นรุ่น 105 ของยี่ห้อ SHIMANO ครับเดี๋ยวนี้ไม่มีขายแล้วครับ 105 รุ่นไหม่ก็ไม่ใช้ระบบนี้แล้วเปลี่ยนเป็นระบบดึงคู่หมดครับ แต่ส่วนตัวผมชอบระบบนี้มากกว่า เพราะมีความยืดหยุ่นกว่าในการปรับแต่งครับ
- ปลดระบบเกียร์ลงมาที่ระดับต่ำสุด ทั้งหน้า และหลังครับ ทำเพื่อยึดอายุสปริงของระบบเปลี่ยนเกียร์ครับให้มันได้อยู่กับเราไปนานๆ ครับ เช่นเฟืองหลังก็ปรับไปที่ใบเล็กสุด ส่วนจานหน้าก็ปรับไปที่ใบเล็กสุดเช่นกันครับลองดูที่รูปครับ ผมถ่ายมาแต่มันไม่ค่อยชัดครับ ผมถ่ายภาพไม่เก่งครับออกตัวไว้ก่อนอย่าบ่นผมนะครับ
- หลังปั่นจักรยานกลับมาก็เช็ดมันเสียหน่อยนะครับ ส่วนตัวผมใช้ของ 3M ครับที่คุณแม่บ้านเอาใว้เช็ดครัวนั่นแหละครับ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันครับว่าเขาเรียกว่าอะไร ผมเห็นมันซับน้ำได้ดี เวลาเราเช็ดรถ มันจะไม่มีคราบน้ำ ติดที่รถเวลาเราเช็ดครับ ใช้เช็ดรถยนต์ก็ได้ครับ ซับน้ำได้ดีมากเลยครับ ของผมที่ถ่ายมาให้ดูมันเก่าหน่อยนะครับ ถึงจะเก่าแต่ไม่มีขุยเลยครับ ใช้เช็ดคราบเหงื่อเวลามันหยดลงบนจักรยาน เพื่อไม่ให้จักรยานขึ้นสนิมได้ง่ายครับ (สำหรับผู้ที่ยังใช้เฟรมเหล็ก ควรดูแลเป็นพิเศษนะครับ) ส่วนตัวผมจะเช็ดแบบ ง่ายๆ ครับ ส่วนเช็ดแบบละเอียดผมจะทำประมานเดือนละ 2 ครั้ง (แบบละเอียดคือเช็ดทุกซอกทุกมุมของจักรยานเลยครับ)
- ทำความสะอาดโซ่จักรยาน สำหรับจุดนี้ผมจะทำ เว้นครั้งเอาครับ คือปั่นสองวันทำความสะอาด 1 ครั้ง ส่วนการล้างโซ่จักรยาน ผมจะทำทุกๆ 500 กิโลเมตรครับ หากใครทำบ่อยๆ ก็ไม่เป็นไรครับ ยิ่งดีเลยครับช่วยยึดอายุ การใช้งานของชิ้นส่วนดังกล่าวได้เป็นอย่างดีเลยครับ ยิ่งโซ่จักรยานสมัยนี้ เล็กและบางกว่าแต่ก่อนมาก การดูแลอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในจุดนี้ได้ครับ ผมสังเกตุว่าโซ่จักรยานสมัยนี้อายุการใช้งานสั่นกว่าสมัยก่อนมากครับ คือโซ่จะยืดเร็วมากดังนั้นในจุดนี้เราควรดูแลเป็นพิเศษกันหน่อยครับ
ที่ผมได้เล่ามาข้างบนเป็นจุดเล็กๆน้อยๆ ที่หลายคนอาจมองข้าม หรือบางคนอาจจะไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่า สิ่งเหล่านี้เราต้องทำด้วยหรือ หากใครไม่ได้คลุกคลีในวงการนี้จริงๆ อาจไม่ทราบเลยครับ เพราะจะเป็นสิ่งที่รุ่นพี่ๆ บอกต่อกันมาถึงรุ่นเราๆ นี้แหละครับ ยกตัวอย่างเช่น ศัพท์ต่างๆ ที่นักปั่นจักรยานเขา คุยกันเช่นคำว่า "หลุด" คนทั่วไปไม่ทราบหลอกครับมันมันหมายถึงอะไร แต่หากเป็นนักปั่นจักรยาน จะทราบดีครับ และผมมั่นใจว่านักปั่นทุกคนเคยประสบกับมันมาแล้ว ซึ่งหากท่านใดอยากทราบว่า"หลุด" หมายถึงอะไร บทความเก่าๆ ผมได้อธิบายไว้แล้วครับ ลองตามไปอ่านกันได้ครับ บทความนี้ครับ ภาษา จักรยาน ที่ท่านคุ้นเคย แล้วคุณจะทราบว่านักปั่นทำไมต้องเจอกับคำนี้ทุกคนครับ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ : มาปั่นจักรยานไปทำงานกันนะครับ
0 comments:
แสดงความคิดเห็น