การแข่งขัน จักรยาน รายการต่างๆ ที่น่าสนใจ

รวบรวมการแข่งจักรยาน รายการต่างๆ ที่น่าสนใจ ในส่วนนี้ ผมจะพยายาม หามาฝาก ให้ได้มากขึ้นครับ

จักรยานเสือภูเขา

สำหรับ ท่านที่เป็นแฟน จักรยานเสือภูเขา ทางผมจะพยายาม นำเรื่องราว เกี่ยวกับจักรยานประเภทนี้มานำเสนอให้มากขึ้น ครับ ที่ผ่านมา ผมคิดว่ามันยังน้อยอยู่ โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยถนัด ทางเสือภูเขามากเท่าไหร่ครับต้องขออภัย ไว้ล่วงหน้าหากมีข้อมูลผิดพลาด ครับ

อะไหล่ จักรยาน และเทคโนโลยี ต่างๆ

ในปัจจุบัน มีการพัฒนาไปมากครับ จนเราๆ ท่านๆ แทบจะหาเงิน มาเปลี่ยน อะไหล่พวกนี้กันแทบไม่ทัน ใครที่มีทุนมากหน่อย ก็สบายหน่อยครับ ได้ใช้ของใหม่ ก่อนใครเพื่อน ส่วนใครทุนน้อย ก็คงต้องรอของมือสองกันละครับ

จักรยาน BMX

จักรยาน BMX เป็นจักรยานที่ได้รับความนิยม มาอย่างยาวนาน และการพัฒนาของจักรยานประเถทนี้ ก็ไม่ได้น้อยหน้ากว่า จักรยาน ประเภทอื่นเลยครับ

จักรยาน ไทม์ไทรอัล

จักรยาน ประเภท ไทม์ไทรอัล หรือที่ใครหลายคน เรียกว่าจรวจทางเรียบ นั่นแหละครับ

วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

ประวัตินักปั่น จักรยาน ชื่อ Roger De Vlaeminck

Roger De Vlaeminck

    Roger De Vlaeminck เขาเกิดวันที่ 24 สิงหาคม ปี ค.ศ 1947 เป็นนักปั่น จักรยาน ชาวเบลเยี่ยม ปัจจุบันเขาอายุได้ 63 ปี เขามีชื่อเล่นว่า "ยิปซี" เหตุที่เขามีชื่อเล่นนี้เพราะว่าเขาเกิดในครอบครัวของนักเดินทางอย่างแท้จริง คือครอบครัวของเขาจะไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน โดยจะอาศัยกันอยู่ในรถที่ตกแต่งภายให้เป็นบ้าน และครอบครัวของเขาก็ย้ายที่อยู่กันบ่อยครั้ง โรเจอร์ นั้นได้รับการยอมรับว่าเป็นนักปั่นจักรยานที่สามารถทำผลงานได้ดี ในรายการแข่งขัน จักรยาน ที่มีสภาพสนามเป็น แบบวิบาก เช่น การแข่งขันจักรยานรายการ "Paris Roubaix" และจากความสามารถอันโดดเด่นนี้เองทำให้เขาได้รับ ฉายาว่า "Monsieur Paris Roubaix"

   ในวัยเด็กนั้น โรเจอร์ ชอบเล่นกีฬาฟุตบอลมาก โดยเขาเล่นให้กับทีม F.C. Eeklo จนกระทั่งเขาได้ออกจากโรงเรียน และได้เป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ ต่อมาพี่ชายของเขาได้ชักชวนเขาเล่นกีฬาจักรยาน เพราะว่าตัวของพี่ชายของเขานั้น เป็นนักปั่น จักรยาน อาชีพอยู่ก่อนแล้ว และโรเจอร์ ก็มีความสนใจอยู่แล้วจึงตอบตกลงที่จะร่วมเดินทางไปในเส้นทางเดียวกับพี่ชายว่าจะลองมา เล่นกีฬาจักรยาน โดย รายการแรกที่เขาลงทำการแข่งขันนั้น เป็นรายการของมือสมัครเล่น ในปี ค.ศ. 1965 ต่อมาเขาและพี่ชายได้เข้าร่วมการแข่งขันจักรยานรายการ "Cyclo cross" ในปี ค.ศ. 1968 โดยพี่ชายของเขาได้กลายเป็นแชมป์ ระดับอาชีพ ส่วนเขานั้นได้แชมป์ประเภทสมัครเล่น และต่อมาในปี ค.ศ. 1969 โรเจอร์ ก็ได้กลายเป็นนักปั่นจักรยานอาชีพเต็มตัว และในการแข่งขันแต่ละรายการนั้นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับตัวของเขาคือ เอ็ดดี้ เมิร์ก โดยตลอดการเป็นนักปั่นจักรยานอาชีพนั้นเขาได้ทำผลงานไว้มากมาย และชัยชนะที่ทำให้เขามีชื่อเสียงมากนั้น ได้แก่
  • Belgian National Road Race Championships ในปี 1969, 1981
  • Omloop Het Volk ในปี 1969, 1979
  • Paris–Roubaix ในปี 1972, 1974, 1975, 1977
  • Tirreno–Adriatico ในปี 1972, 1973, 1974, 1975, 1976, 1977
  • Ronde van Vlaanderen ในปี 1977
  • Milan – San Remo ในปี 1973, 1978, 1979
  • Giro di Lombardia ในปี 1974, 1976
  • Liege–Bastogne–Liege ในปี 1970

วันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554

จักรยาน ฟิกเกียร์

จักรยานฟิกเกียร์

    จักรยานประเภทนี้นั้น จะมีความคล้ายคลึงกับจักรยานที่ใช้สำหรับแข่งขันในประเภทลู่ แต่ถูกผลิตหรือดัดแปลงมาเพื่อใช้บนถนนทั่วไป จักรยานประเภทนี้จะไม่มีเกียร์นะครับ คือจะมีเฟืองหลังเพียงอันเดียว และที่สำคัญมันฟรีเท้าไม่ได้นะครับ ในปัจจุบันผมเห็นกลุ่มวัยรุ่นหันมาขี่จักรยานฟิกเกียร์กันเยอะพอสมควร แต่เห็นว่า จักรยาน ประเภทฟิกเกียร์ที่ใช้บนท้องถนนนั้น ได้เข้ามาในเมืองไทยหลายปีแล้วครับแต่ได้รับความนิยมเพียงกลุ่มเล็กๆ เช่นนักเรียน หรือผู้ที่ไปศึกษาที่ต่างประเทศพอเรียนจบกลับบ้านที่ประเทศไทยก็จะนำจักรยานของตัวเองกลับมาด้วย เพื่อเอามาปั่นในเมืองไทย (ตอนที่ผมไปหาซื้ออะไหล่จักรยาน ผมก็เคยเจอ ดารานักแสดงบ้านเรา เขาก็ขี่จักรยานประเภทนี้กันหลายคนครับ เช่น คุณ เจ มณฑล และ อีกหลายคนผมจำชื่อ ไม่ค่อยได้ครับ แต่ก็เจอบ่อยเหมือนกันครับ) แต่ในต่างประเทศนั้นจักรยานฟิกเกียร์นั้นโดย ทั่วไปแล้วจะเป็นจักรยานที่เขาใช้ในการส่งเอกสาร หรือผู้ที่ทำงานทางด้านส่งเอกสารระหว่างบริษัทที่มีระยะทางไม่ไกลมากนัก และต้องการความเร่งด่วนในการส่งเอกสารมากๆ จึงต้องใช้บริการของพวกเขาเหล่านี้ ด้วยการที่เป็นจักรยานที่มีความคล่องตัวสูง และประกอบกับไม่ต้องการ การดูแลรักษามาก อีกทั้งในปัจจุบันได้มี กลุ่มวัยรุ่น หันมาตกแต่ง จักรยานฟิกเกียร์ ของตนให้มีสีสันสวยงามสดุดตา จึงยิ่งทำให้จักรยานประเภทนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างมาก กว่าแต่ก่อนที่มีกลุ่มที่ปั่นเพียงกลุ่มเล็กๆ

ข้อควรระวังในการขี่จักรยานฟิกเกียร์
  • สำหรับนักปั่นมือใหม่ผมขอแนะนำ ว่าควรติดตั้ง ระบบเบรค ไว้ด้วยนะครับ เพราะผมเห็นหลายคนซื้อจักรยานประเภทนี้มาใหม่ๆ และอาจจะเห็นของเพื่อนๆ ไม่ได้ ติดตั้งเบรค นั้นอาจเป็นเพราะว่าเพื่อนของคุณขี่จักรยานประเภทนี้มานาน และมีความชำนาญในการบังคับ และควบคุม ต่างจากนักปั่นมือใหม่ ที่ยังไม่รู้จังหวะในการหยุดรถ จักรยานฟิกเกียร์ เพราะมันต้องอาศัยประสบการณ์และทำความคุ้นเคยกับมันพอสมควร
  • หลายท่านเวลาไปหาซื้อจักรยานฟิกเกียร์มา คงสังเกตุเห็นว่าบางร้านเขาจะ ติดตั้งที่รัดเท้า ติดมากับบรรไดรถจักรยานด้วย หลายคนมักเรียกว่า "ตะกร้อรัดเท้า" นั่นแหละครับ ผมแนะนำว่ามือใหม่เวลาท่านปั่นไม่ควรรัดเท้าติดกับบรรได ควรปล่อยแบบหลวมๆ ไว้ นะครับเพราะเวลาท่านจอดรถท่านจะต้อง เจอกับปัญหา ที่ว่าถอดเท้าไม่ออก หรือ ลืมจึงถอดออกไม่ทันแล้วคุณก็ล้ม ลงตรงนั้นอาจจะไม่เจ็บมาก แต่ถ้าล้มต่อหน้า สาวๆ แล้วคงไม่ต้องให้ผมบรรยายนะครับว่า มันหน้าอายมากแค่ใหนแทบจะแทรก หรือมุดดินให้ตัวเองหายไปตรงนั้นเลยครับ ไม่ต้องคิดอะไรมากครับขนาดมือ เก๋าๆ บางคนยังลืมได้เลย ของมันลืมกันได้ครับ แต่ยังไงความปลอดภัย ก็ต้องมาเป็นอันดับแรก นะครับ ขอให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆสนุกกับการปั่นจักรยานที่ตัวเองรักนะครับ และก็ต้องขอบอก บ๊าย บาย!! ก่อนจบบทความผมหา คลิปวีดีโอ การปั่นฟิกเกียร์ จาก Youtube มาฝากด้วยครับ เชิญชมได้ตามสบายนะครับ

วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

การแข่งขันจักรยานประเภท คีลิน

Cycling Keirin

    การแข่งขันจักรยานประเภท คีลิน "Keirin" นั้นมีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ป่น ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ 1948 และมีการบรรจุเข้าไปในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี ค.ศ 2000 โดยรูปแบบของการแข่งขันนั้นจะมีการปล่อยตัวนักีฬาจักรยานคลาวละ 6-9 คน และต้องมีการจับฉลากหาตำแหน่งในการขี่ คือหมายความว่า ใครจะเป็นผู้นำ หรือผู้ตาม โดยนักกีฬาจักรยานทั้งหมดต้องขี่ตาม มอเตอร์ไซไฟฟ้าโดยเรียงตามลำดับที่ตัวเองจับฉลากได้ โดยทั่วไปแล้วการแข่งขันจักรยานประเภท คีลินนั้นจะใช้ระยะทางประมาน 2000 เมตร โดยนักกีฬาทุกคนต้องปั่นตาม มอเตอร์ไซไฟฟ้า ไปจนกระทั่งเหลือระยะทางก่อนเข้าเส้นชัยประมาน 700 เมตรนักปั่นจักรยานทุกคนก็เริ่มปั่นด้วยตัวเอง เพื่อให้ตัวเองนั้นเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 1 ให้ได้ ในบางรายการนั้น ความเร็วตอนเข้าเส้นชัยนั้นอาจจะสูงกว่า 70 ก.ม./ช.ม การแข่งขันจักรยานประเภทนี้จึงมีความตื่นเต้นมากสำหรับท่านผู้ชม เพราะใช้ความเร็วในการแข่งขันที่สูงมาก จึงทำให้โอกาสในการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการแข่งขันนั้นสูงขึ้นไปด้วยครับ

วีดีโอคลิปการแข่งขันจักรยานประเภท คีลิน นำมาจาก Youtube ครับ

วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

ประวัตินักปั่นจักรยาน ชื่อ Raymond Poulidor

Raymond Poulidor

    เรย์มอนด์ "Raymond Poulidor" เกิดวันที่ 15 เมษายน ค.ศ 1936 ปัจจุบันเขาอายุได้ 74 ปี เป็นนักปั่นจักรยานชาว ฟรั่งเศส ครอบครัวของ เรย์มอนด์ ทำอาชีพเกษตรกร อยู่นอกหมู่บ้าน ของเมืองเล็กๆ ที่ชื่อว่า "Masbaraud" ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง Limoges ในสมัยที่เขายังเด็กชีวิตของเขาค่อนข้างจะลำบาก เพราะครอบครัวของเขาฐานะไม่ค่อยดี เขาจึงต้องทำงานอย่างหนักเพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัว โดยเขาต้องออกจากโรงเรียนเพื่อมาหางานทำช่วยครอบครัวตอนอายุได้แค่ 14 ปี ถึงแม้ในใจของเขาอยากจะเรียนต่อก็ตาม แต่เหตุผลทางด้านการเงินนี้เองทำให้เขาต้องหยุดเรียนดังกล่าว

    เรย์มอนด์ เริ่มการแข่งขันจักรยานในงานเฉลิมฉลองของหมู่บ้าน มันไม่ใช้การแข่งขันจักรยานแบบเป็นทางการอะไรมาก แต่เขาก็ได้เงินเล็กๆ น้อยจาการแข่งขันในครั้งนี้ ต่อมาเขาเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับท้องถิ่น จึงได้เงินจากการแข่งขันจักรยานเพิ่มเข้ามาเพื่อช่วยเหลือครอบครัวของเขา อีกไม่นานเขาก็ได้รับใบอนุญาติสำหรับการแข่งขันจักรยานอาชีพ โดยรายการแรกที่เขาลงทำการแข่งขันคือ รายการ "La La Pedale" แต่เขาทำได้ดีที่สุดตอนจบการแข่งขันแคอันดับที่ 17 และต่อมาในปี ค.ศ 1955 เรย์มอนด์ ได้เข้าไปสังกัด ทีมของกองทัพในฐานะนักปั่นจักรยานและ ปั่นจักรยานในนามทีมของกองทัพอยู่หลายปี ก่อนที่กองทัพจะส่งเขาไปรบในสงคราม ที่เกิดขึ้นในประเทศ แอลจีเรีย พอสงครามสงบลงเขาก็กับมาเริ่มแข่งจักรยานอีกครั้งในปี ค.ศ 1960 และเขาได้เข้าไปเป็นสมาชิกในทีมอาชีพ คือ Cycles Mercier และเขาก็อยู่กับทีมนี้ตลอดการเป็นนักปั่นจักรยานอาชีพ โดยผลงานที่โดดเด่นในอาชีพการเป็นนักปั่นจักรยานของเขา คือ ได้แชมป์รายการใหญ่ๆ ดังนี้
  • Vuelta a Espana (1964)
  • ชนะ 4 Stage ในรายการ Vuelta a Espana
  • ชนะ 4 Stage ในรายการ Tour de France
  • Milan – San Remo (1961)
  • La Fleche Wallonne (1963)
  • Grand Prix des Nations (1963)
  • Criterium International (1964, 1966, 1968, 1971–1972)
  • Criterium du Dauphine Libere (1966, 1969)
  • Paris–Nice (1972–1973)
    หลังจากที่ เรย์มอนด์ ได้เลิกอาชีพนักปั่นจักรยาน เขาได้รับตำแหน่งเป็นประธานให้กับ "Chevalier de la Legion d'honneur" และ ถ้ามีเวลาว่างเขาก็มักจะออกไปปั่นจักรยานเสือภูเขาร่วมกับครอบครัวของเขาเพื่อออกกำลังกาย เป็นประจำและนี่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขามีอายุยืนยาวมากกว่า นักปั่นจักรยานในรุ่นเดียวกัน

วันเสาร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2554

การแข่งขันจักรยานประเภท พ้อย เรซ

การแข่งขันจักรยาน

    การแข่งจักรยานประเภทนี้จะทำการแข่งขันกันใน เวลโลโดม โดยได้มีการบรรจุการแข่งขันประเภทนี้เข้าไปในกีฬาโอลิมปิก ในปี 1984-2008 สำหรับการแข่งขันประเภทชาย ส่วนประเภทหญิงนั้นได้มีการบรรจุเข้าไปในการแข่งขันจักรยานในกีฬาโอลิมปิก เมื่อ ปี ค.ศ 1996-2008 ในการแข่งขันจักรยานประเภทนี้นั้นโดยทั่วไปแล้วจะใช้ระยะทางในการแข่งขันประมาน 120-160 รอบสนาม โดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการแข่งขันประมาน 40 กว่านาที โดยจะใช้การนับคะแนนจากผู้ที่ ชนะการสปริ้น ทุกๆ 10 รอบ โดยผู้ที่สปริ้นเข้าที่ 1 จะได้ 5 คะแนน ที่2 ได้ 4 คะแนน ที่ 3 ได้ 2 คะแนน ที่ 4 ได้ 1 คะแนน ตามลำดับ โดย นอกเหนือจากนั้นจะไม่ได้คะแนน และ ผู้ที่สามารถ ขี่มาน็อครอบคนอื่นได้จะได้คะแนน พิเศษ 20 คะแนน แต่การที่จะขี่มาน็อครอบนักกีฬาคนอื่นๆ นั้นยากมากครับ เพราะถ้าไม่แข็งแกร่งจริงๆ และ ไม่สามารถหาจังหวะการหนีที่เหมาะสมแล้วจะก็จะโดนนักปั่นจักรยานในกลุ่มที่ตามมา สวนกลับได้ง่ายๆ

    ส่วนตัวแล้วผมเคยแข่งขันจักรยานประเภทนี้มาก่อน ตอนนั้นผมอายุประมาน 19 ปี เป็นการแข่งขันกีฬา เขต 5 เพื่อคัดตัวนักกีฬาจักรยานไปแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ตอนนั้นผมฟิตมาก แต่ในการแข่งขันครั้งนั้นทีมคู่แข่งของผม มีดีกรีเป็นถึงทีมชาติเขามีประสบการณ์ในการแข่งขันเยอะกว่าผมหลายปีครับ เรียกว่ากระดูกคนละเบอร์เลยก็ว่าได้ครับ ช่วงเราแรกในการแข่งขัน ผมกับพี่เขาผลัดกันสปริ้นเข้าที่หนึ่ง อยู่หลายหน แต่คะแนนผมยังเป็นรองพี่เข้าอยู่ พอการแข่งขันถึงช่วงกลางของระยะทางทั้งหมดผมคิดในใจว่าถ้าผมไม่หนีเดี่ยวผมต้องแพ้ แน่ๆ ถึงช่วงนี้ก็เหลือผมกับพี่เขาสองคน ที่แข่งกันแบบเอาเป็นเอาตายเพราะนักกีฬาจักรยานจากทีมอื่นๆ โดนผมกับพี่เขาน็อครอบไปแล้ว ถ้าจบการแข่งขันครั้งนี้ผมกับพี่เขาใครคนหนึ่งต้องได้เหรียญทองมาครองแน่นอน แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ในช่วงการสปริ้นรอบท้ายๆ โดยผมสปริ้นแซงพี่เขาขึ้นมาเพื่อที่ผมต้องการจะเข้าโค้งได้ก่อนตอนนั้นความเร็วตอนเข้าโค้งมันสูงมาก ปรากฎว่ายางรถจักรยานของผมมันหลุดออกจากขอบครับ ผมเลยล้ม ส่วนพี่ทีมชาติที่ตามผมมา ก็ชนผมเข้าไปแบบเต็มๆ ล้มกันทั้งคู่ครับ แต่ผมก็รีบลุกขึ้นมาจับจักรยานมาขี่ต่อนะครับ พี่เขาก็เหมือนกัน สรุปการแข่งขันครั้งนั้นผมได้เหรียญเงิน พี่เขาได้เหรียญทอง แต่ที่ได้ไปเหมือนกันทั้งคู่คือ แผลจากการล้มในครั้งนั้น เป็นหมูแดงไปครึ่งตัวเลยครับ รักษาแผลเกือบ 2 เดือนกว่าจะหาย ถึงจะได้แผลยังไงผมก็ยังรักการขี่จักรยานไม่เสื่อมคลายครับ

วีดีโอคลิปการแข่งขันจักรยานประเภท พ้อย เรซ นำมาจาก Youtube ครับ

วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554

การใช้ Heart Rate Monitor ช่วยในการฝึกซ้อมจักรยาน

Heart Rate Monitor

    ในปัจจุบันนี้ ต้องยอมรับว่า วิทยาศาสตร์ได้เข้ามามีบทบาท ในวงการกีฬาจักรยาน และ กีฬาประเภทอื่นๆ เป็นอย่างมาก ต่างจากในยุคก่อนๆ ที่นักกีฬาจักรยาน ส่วนใหญ่จะตั้งหน้าตั้งตา ฝึกซ้อมอย่างเดียวโดยยึดหลักว่า ซ้อมให้เยอะๆ เข้าไว้ถึงจะดี แต่ในปัจจุบันวิทยาศาสตร์การกีฬาได้เข้ามามีบทบาท อย่างมากในวงการกีฬา ทุกประเภทโดยจะเห็นได้จาก สถิติโลกในการแข่งขันกีฬาจักรยานประเภทต่างๆ จะมีเวลาที่ดีขึ้น อย่างเช่น การแข่งขันกีฬาจักรยานในรายการชิงแชมป์โลก หรือ โอลิมปิก มักจะมีการ ทำลายสถิติโลก กันแทบจะทุกครั่งที่มีการแข่งขัน ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ส่งผลทำให้นักกีฬามีความสามารถมากขึ้น แข็งแกร่งขึ้น และ มันก็เป็นที่มาของเรื่องที่ผมจะมาแบ่งปันให้กับเพื่อนๆ พี่ๆ ในบทความนี้ครับ คือ การใช้ เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจ หรือ Heart Rate Monitor มาช่วยในการฝึกซ้อมจักรยาน โดยเจ้าเครื่องที่ว่านี้ มันสามารถช่วยให้เราทำการฝึกซ้อมจักรยาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ มันจะเป็นตัวกำหนดไม่ให้เราฝึกซ้อมหนัก หรือ เบาเกินไป คือมันจะคอยบอกเราว่า ตอนนี้อัตราการเต้นของหัวใจ ของตัวเราเต้นกี่ครั้งต่อนาที ซึ่งจะมีประโยชน์มากในการฝึกซ้อม และจะทำให้เราสามารถมีพัฒนาการในการฝึกซ้อมจักรยานดีขึ้นอย่างรวดเร็ว และ ไม่เสี่ยงต่อการ "Over training" หรือการฝึกซ้อมหนักเกินไป ซึ่งผมได้กล่าวถึงผลร้ายของมันในบทความก่อนๆ ที่ผ่านมาโดยท่านใดยังไม่ทราบถึงผลร้ายของมันสามารถกลับไปอ่านได้ที่บทความนี้ครับ "การฝึกซ้อมจักรยานมากเกินไปมีผลร้ายกว่าที่คุณคิด" ผมได้อธิบายถึง ผลร้ายของมันไว้แล้ว

วิธีคำนวนหา อัตราการเต้นของหัวใจ ที่เหมาะสมกับช่วงอายุของคุณ

1. เราต้องคำนวนหาอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด ที่ร่างกายเราสามารถรับได้ โดยทั่วไปแล้วจะใช้ ค่านี้ครับ คือ 220 ลบด้วยอายุปัจจุบันของคุณ "(220 - อายุปัจจุบัน)=อัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด ที่คุณสามารถรับได้" โดยค่าที่ได้ออกมาคือค่าสูงสุดที่ร่างกายของแต่ละคนจะรับได้ครับ ยกตัวอย่างเช่น นาย ก อายุ 35 ปี (220 - 35 = 185) ผลคืออัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดของนาย ก คือ 185 ครั้งต่อนาที่
2. หาช่วงอัตราการเต้นของหัวใจที่เหมาะสมในการออกกำลังกาย โดยสามารถกำหนดจุดมุ่งหมายของการฝึกซ้อมจักรยาน หรือ ออกกำลังกายได้ดังนี้
  • เพื่อลดน้ำหนัก และ เผาผลาญไขมันส่วนเกิน โดยการออกกำลังกายแบบนี้จะใช้อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ประมานช่วง 60% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด
  • จุดมุ่งหมายเพื่อฝึกความอดทนของระบบร่างกาย จะใช้อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ประมานช่วง 70-80% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด
  • สำหรับผู้ที่จะฝึกซ้อมหนักๆ ระดับการเต้นของหัวใจ อาจจะเกิน 100% ในบางช่วง เช่น การฝึกสปริ้น ส่วนใหญ่ระดับการเต้นของหัวใจจะเกิน 90% ทั้งนั้นครับ
โดยทั่วไปแล้วเจ้า เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจจะคำนวนเป็น (%) ให้เราอยู่แล้วครับ ทำให้ง่ายต่อการสังเกตุความเปลี่ยนของอัตราการเต้นของหัวใจ โดยในปัจจุบันเจ้าเครื่องที่ว่านี้ราคาของมันก็ไม่แพงมากเหมือนแต่ก่อน ตกอยู่ราวๆ สองพันกว่าบาทนิดๆ แต่โดยส่วนตัวแล้วผมเห็นว่ามันมีความจำเป็นมากสำหรับนักกีฬาปั่นจักรยาน ในปัจจุบัน หรือนักกีฬาประเภทอื่นๆ

วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

ประวัตินักปั่นจักรยาน ชื่อ Felice Gimondi

Felice Gimondi

    Felice Gimondi เกิดวันที่ 29 กันยายน ค.ศ 1942 เป็นชาว อิตาลี ปัจจุบันเขาอายุได้ 68 ปี Felice Gimondi เติบโตมาพร้อมกับความผูกพันกับจักรยานโดยแท้ เพราะแม่ของเขาเป็นผู้ให้บริการส่งไปรษณีย์ และต้องปั่นจักรยานส่งไปรษณย์อยู่เป็นประจำซึ่งส่วนใหญ่แล้วเขามักจะร่วมเดินทางไปกับแม่เพื่อส่งจดหมายเสมอทำให้เขามีความผูกพันกับจักรยานมากเป็นพิเศษ

    Felice Gimondi เป็นนักปั่นจักรยานคนที่ 2 ต่อจาก Jacques Anquetil ที่สามารถชนะ 3 รายการแกรนด์ทัวที่สำคัญ คือ Tour de France, Giro d'Italia, และ รายการ Vuelta a Espana เพราะผู้ที่สามารถชนะรายการแข่งขันทั้งสามรายการได้นั้น มีเพียง 5 คนเท่านั้นและ Felice Gimondi ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่สามารถทำได้ เขาได้รับสมญานามว่า "The Phoenix" โดยเขาเริ่มเป็นนักปั่นจักรยานอาชีพในปี ค.ศ 1965 โดยสังกัดทีม "Salvarani" และได้เข้าร่วมการแข่งขันจักรยาน ทัวร์เดอะฟรอง และสามารถเป็นแชมป์รายการนี้ได้ทำให้เขาได้รับยกย่องให้เป็นวีรบุรษ ของชาวอิตาลี โดยผลงานของเขาที่สำคัญมีดังต่อไปนี้
  • แชมป์ รายการ Tour de France ในปี ค.ศ 1965
  • แชมป์ รายการ Giro d'Italia ในปี ค.ศ 1977, 1969, 1976
  • แชมป์ รายการ Vuelta a Espana ในปี ค.ศ 1968
  • แชมป์ รายการ World Road Cycling Champion ในปี ค.ศ 1973
  • แชมป์ รายการ Milan - San Remo ในปี ค.ศ 1974
  • แชมป์ รายการ Paria - Roubaix ในปี ค.ศ 1966
  • แชมป์ รายการ Giro di Lombardia ในปี ค.ศ 1966, 1973
  • แชมป์ รายการ Paris - Brussels ในปี ค.ศ 1966, 1976
  • แชมป์ รายการ Tour de Romandie ในปี ค.ศ 1969
  • แชมป์ รายการ Volta a Catalunya ในปี ค.ศ 1972
  • แชมป์ รายการ Italian National Road Race Championship ในปี ค.ศ 1968, 1972
  • แชมป์ รายการ Grand Prix des Nations ในปี ค.ศ 1967, 1968
    โดยในปัจจุบัน Felice Gimondi เป็นเจ้าของทีมจักรยาน คือ TX Active - Bianchi cycling team (ทีมนี้เป็นทีมจักรยานประเภทถนน)และ ทีม Specialized (เป็นทีมจักรยานเสือภูเขา)

วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554

ความสำคัญของการวอร์มอัพก่อนการฝึกซ้อมจักรยาน

การวอร์มอัพร่างกายก่อนการฝึกซ้อมจักรยาน

    โดยทั่วไปแล้วนักกีฬาจักรยานส่วนมากจะรู้เป็นอย่างดีว่า การวอร์มอัพร่างกายก่อนการฝึกซ้อม หรือก่อนทำการแข่งขันจักรยานนั้นมีความสำคัญมากเพราะมันช่วยลดความเสี่ยงอาการบาดเจ็บที่เกิดจากการฝึกซ้อม และ ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการฝึกซ้อมให้ดีขึ้นอีกด้วย และก็ยังมีนักกีฬาจักรยานอยู่จำนวนไม่น้อยที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการอบอุ่นร่างกาย หรือ การวอร์มอัพ ยกตัวอย่างเช่น บางคนอาจจะรีบไปทำธุระ, ขี้เกียจกลัวเสียเวลา หรืออาจจะมาซ้อมล้าช้าทำให้ต้องรีบทำการฝึกทันที เหตุการเหล่านี้อาจทำให้ท่านต้องพักยาวเลยก็ได้ครับ เพราะอาการบาดเจ็บจากการฝึกซ้อมนั่นเองครับ

ประโยชน์ของการอบอุ่นร่างกายก่อนการฝึกซ้อมจักรยาน
  1. การวอร์มอัพนั้นจะทำให้ร่างกายของเรามีอุนหภูมิสูงขึ้นซึ่งมันจะส่งผลดีต่อกระบวนการ เมตาบอลิ (Metabolic) และ เอนไซม์ต่างในร่างกายของเรานั้นทำงานได้ดีขึ้น
  2. ทำให้การลำเลียงอ๊อกซิเจนจากเม็ดเลือดไปยังกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ทำงานได้รวดเร็วขึ้น
  3. ทำให้การรับส่งข้อมูลของระบบประสาททำงานได้รวดเร็วขึ้น
เวลาในการวอร์มอัพนั้นควรใช้ระยะเวลาเท่าไหล่? คำถามนี้หลายท่านคงเคยถามเพื่อนๆ นักปั่นจักรยานมาแล้ว หรืออาจจะมีข้อสงสัยว่าแล้วเราจะใช้เวลาในการวอร์มอัพร่างกายเท่าไหล่ จึงจะส่งผลดีที่สุด จากที่ผมได้ไปหาข้อมูลมาจากหลายแห่งส่วนมากจะมาจากอินเตอร์เน็ต ผมขอตอบแบบฟันธงเลยนะครับว่านักกีฬาแต่ละคนนั้นจะใช้เวลาในการวอร์มอัพแตกต่างกัน เพราะระบบต่างๆ ในร่างกายของคนเรานั้นแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น เวลามาตรฐานในการวอร์มอัพโดยทั่วไปแล้วจะอยู่ที่ประมาน 15 นาที แต่บางคนอาจใช้เวลา น้อยกว่าหรือมากกว่านี้ ได้ครับ แต่ถ้าจะหาเวลาสำหรับการวอร์มอัพแบบเฉพาะเจาะจงหรือ ส่วนบุคคลนั้นมันจะต้องมีการลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้งครับกว่าจะได้เวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตัวเอง แต่โดยพื่นฐานแล้วการวอมอัพนั้นควรต้องเริ่มจากกิจกรรมที่เบาๆ อย่างเช่นการยึดหยุ่นกล้ามเนื้อเป็นต้นแล้วค่อยๆ เริ่มกิจกรรมที่หนักขึ้นที่ละน้อยๆ จนกระทั้งเข้าสู่การฝึกซ้อมจักรยานแบบเต็มรูปแบบ

ตัวอย่างการวอร์มอัพร่างกายก่อนการฝึกซ้อมจักรยาน โดยใช้เวลา 15 นาที
  1. เริ่มด้วยการปั่นจักรยานแบบสบายๆ ไม่ต้องออกแรงมาก (ใช้จานหน้าเล็ก และ เฟืองหลัง 17-20 รอบขาประมาน50-60 rpm)
  2. ทุกๆ 2 นาที่ให้ท่านเพิ่ม ความเข้มข้นของการปั่นจักรยานเข้าไป ทีละน้อยๆ ยกตัวอย่างถ้าท่านมีเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจหรือว่า (Heart Rate Meter) เริ่มวอร์มอัพอัตราการเต้นอยู่ที่ประมาณ 45-50% ของอัตราการเต้นสูงสุดของหัวใจ แล้วทุกๆ 2 นาที ให้ท่านเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจเข้าไป ทีละ 3-4% จนการทั่งอัตราการเต้นของหัวใจท่านไปถึงจุดที่พร้อมสำหรับการฝึกซ้อมจักรยานโดยปรกติจะอยู่ที่ ประมาน 65-70% ของอัตราการเต้นสูงสุด
  3. พอท่านวอร์มอัพจนถึงจุดที่พร้อมสำหรับการฝึกซ้อมจักรยานแล้ว ให้ท่านทำการพักประมาน 3-5 นาที โดยการปั่นจักรยานแบบสบายๆ เหมือนข้อแรก แล้วค่อยเริ่มการฝึกซ้อมตามตารางการฝึกซ้อมปรกติของท่าน

วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554

การแข่งขันจักรยานประเภท ทีมสปริ้น

ทีมสปริ้น

    การแข่งขันจักรยานประเภทนี้ จัดอยู่ในการแข่งขันจักรยานประเภทลู่โดยจะทำการแข่งขันกันในเวลโลโดมโดยจะใช้ระยะทางในการแข่งขัน 3 รอบสนาม สำหรับทีมชาย และ 2 รอบสนาม สำหรับทีม หญิง โดยแต่ละทีมจะสามารถส่งนักปั่นจักรยานลงทำการแข่งขันได้ทีมละ 3 คน สำหรับทีมชาย และ 2 คนสำหรับทีมหญิง รูปแบบการแข่งขันจักรยานประเภทนี้คือ จะทำการปล่อยตัวนักกีฬา ทั้ง 2 ทีมพร้อมกันแต่จะปล่อยคนละฟากสนาม นักปั่นของแต่ละทีมจะมีรูปแบบการปั่นคือ ทั่ง 3 คนจะออกตัวพร้อมกัน โดยพอปั่นครบ 1 รอบนักปั่นคนแรก ก็จะปล่อยตัวเองหลุดไปเพราะทำการนำมา 1 รอบแล้ว พอเข้ารอบที่ 2 นักปั่นคนที่ 2 ก็จะเป็นผู้ขึ้นมาปั่นนำแทนเพื่อลากนักปั่นคนที่ 3 ต่อไปจนครบรอบที่ 2 พอเข้ารอบที่ 3 คราวนี้คนที่ 3 ต้องปั่นเองเพื่อเข้าเส้นชัย โดยในการตัดสินแพ้หรือว่าชนะนั้นทีมใดทำเวลาน้อยที่สุดจะเป็นฝ่ายชนะการแข่งขัน โดยตอนนี้ สถิติโลกสำหรับการแข่งขันจักรยานประเภททีมสปริ้นนั้นมีดังนี้ครับ

ประเภททีมชาย ระยะทาง 3 รอบสนาม เวลาที่ทำได้ 42.950 วินาที โดยทีมชาติ อังกฤษ โดยทำไว้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่ประเทศจีน ปี ค.ศ 2008 โดยมีรายชื่อของนักปั่นจักรยานในทีม ดังนี้
  1. Chris Hoy
  2. Jason Kenny
  3. Jamie Staff
ประเภททีมหญิง ระยะทาง 2 รอบสนาม เวลาที่ทำได้ 32.923 วินาที โดยทีมชาติ ออสเตรเลีย โดยทำไว้ในการแข่งขันจักรยานชิงแชมป์โลก ที่ประเทศ เดนมาร์ก ในปี ค.ศ 2010 โดยมีรายชื่อของนักปั่นจักรยานในทีม ดังนี้
  1. Kaarle McCulloch
  2. Anna Meares
ส่วนวีดีโอการแข่งขันจักรยานประเภททีมสปริ้นนั้นอยู่ข้างล่างนี้แล้วนำมาจาก Youtub เชิญชมได้เลยครับ

วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

การแข่งขันจักรยานประเภท เดี่ยวเปอร์ซูท

เดี่ยวเปอร์ซูท

    การแข่งขันจักรยานประเภท (Individual pursuit) จะทำการแข่งขันกันในเวลโลโดมโดยจะใช้ระยะทางในการแข่งขัน 4 กิโลเมตร สำหรับประเภทชาย และ 3 กิโลเมตร สำหรับประเภทหญิง รูปแบบการแข่งขันจักรยานประเภทนี้คือ จะทำการปล่อยตัวนักกีฬา ทั้ง 2 ทีมพร้อมกันแต่จะปล่อยคนละฟากสนาม โดยในการตัดสินแพ้หรือว่าชนะนั้นทีมใดทำเวลาน้อยที่สุดจะเป็นฝ่ายชนะการแข่งขัน โดยตอนนี้ สถิติโลกสำหรับการแข่งขันจักรยานประเภทเดี่ยว เปอร์ซูทนั้นมีดังนี้ครับ
ประเภทชายระยะทาง 4000 เมตร เวลา 4:11.114 นาที โดยทีมชาติ อังกฤษ โดยทำไว้ในการแข่งขันจักรยานชิงแชมป์โลก ที่ประเทศอังกฤษ ปี ค.ศ 1996 โดยมีรายชื่อของนักปั่นจักรยาน คือ
  • Chris Boardman
ประเภทหญิงระยะทาง 3000 เมตร เวลา 3:22.269 นาที โดยทีมชาติ สหรัฐ โดยทำไว้ในการแข่งขันจักรยานรายการ ชิงแชมป์แพนอเมริกัน (Pan American Championships) ที่ประเทศ เม็กซิโก ในปี ค.ศ 2010 โดยมีรายชื่อของนักปั่นจักรยาน คือ
  • Sarah Hammer
โดยข้างล่างนี้เป็นคลิปวีดีโอการแข่งขันจักรยานประเภทเดี่ยวเปอร์ซูทเชิญชมได้เลยครับ

วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2554

การแข่งขันจักรยานประเภท Team Pursuit

Competition Cycling Team pursuit

    การแข่งขันจักรยาน ประเภท Team pursuit (Competition Cycling Team pursuit)การแข่งขันจักรยานประเภทนี้ จะทำการแข่งขันกันในเวลโลโดมโดยจะใช้ระยะทางในการแข่งขัน 4 กิโลเมตร สำหรับทีมชาย และ 3 กิโลเมตร สำหรับทีม หญิง โดยแต่ละทีมจะสามารถส่งนักปั่นจักรยานลงทำการแข่งขันได้ทีมละ 4 คน โดยรูปแบบการแข่งขันจักรยานประเภทนี้คือ จะทำการปล่อยตัวนักกีฬา ทั้ง 2 ทีมพร้อมกันแต่จะปล่อยคนละฟากสนาม โดยในการตัดสินแพ้หรือว่าชนะนั้นคือทีมใดทำเวลาน้อยที่สุดจะเป็นฝ่ายชนะการแข่งขัน โดยจะทำการจับเวลาของผู้ที่เข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่ 3 ของแต่ละทีม โดยตอนนี้ สถิติโลกสำหรับการแข่งขันจักรยานประเภททีม เปอร์ซูทนั้นมีดังนี้ครับ
  • ประเภททีมชายระยะทาง 4000 เมตร เวลา 3:53.314 นาที โดยทีมชาติ อังกฤษ โดยทำไว้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่ประเทศจีน ปี ค.ศ 2008 โดยมีรายชื่อของนักปั่นจักรยานในทีม คือ
  1. Ed Clancy
  2. Paul Manning
  3. Geraint Thomas
  4. Bradley Wiggins
  • ประเภททีมหญิงระยะทาง 3000 เมตร เวลา 3:19.569 นาที โดยทีมชาติ สหรัฐ โดยทำไว้ในการแข่งขันกีฬา ชิงแชมป์แพนอเมริกัน (Pan American Championships) ที่ประเทศ เม็กซิโก ในปี ค.ศ 2010 โดยมีรายชื่อของนักปั่นจักรยานในทีม ดังนี้
  1. Dotsie Bausch
  2. Sarah Hammer
  3. Lauren Tamayo
ส่วนวีดีโอการแข่งขันจักรยานประเภททีมเปอร์ซูทเชิญชมได้เลยครับ

วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

ประวัตินักปั่นจักรยาน ชื่อ Francesco Moser

Francesco Moser

    ฟรานซิสโก โมเซอร์ "Francesco Moser" เขาเกิดวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ 1951 ปัจจุบันเขาอายุได้ 59 ปี เป็นชาว อิตาลี โดยฟรานซิสโก นั้น เป็นนักปั่นจักรยานที่มีชื่อเสียงมากในช่วงกลางยุคทศวรรษ 1970 ถึง 1980 ฟรานซิสโกเริ่มเข้าสู่เส้นทางการเป็นนักปั่นจักรยานอาชีพในปี ค.ศ 1973 โดยความสามารถที่โดดเด่นของเขาคือการที่เขาสามารถปั่นจักรยานประเภท Time-Trial ได้ดีมากและเขาชอบสนามแข่งที่เป็นทางเรียบมากกว่าทางขึ้นเขา ทำให้บางรายการแข่งขันที่มีทางขึ้นเขาเยอะๆ เขาจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่เขาก็สามารถประสบความสำเร็จจากอาชีพการเป็นนักปั่นจักรยานอาชีพได้มากพอสมควรโดยผลงานที่โดดเด่นของเขามีดังนี้
  • แชมป์ รายการ Giro d'Italia ในปี ค.ศ 1984
  • แชมป์ รายการ World Road Cycling Champion ในปี ค.ศ 1977
  • แชมป์ รายการ Milan – San Remo ในปี ค.ศ 1984
  • แชมป์ รายการ Paris–Roubaix ในปี ค.ศ 1978, 1979 และ 1980
  • แชมป์ รายการ Giro di Lombardia ในปี ค.ศ 1975 และ 1978
  • แชมป์ รายการ La Fleche Vallonne ในปี ค.ศ 1977
  • แชมป์ รายการ Paris–Tours ในปี ค.ศ 1974
  • แชมป์ รายการ Tirreno–Adriatico ในปี ค.ศ 1980 และ 1981
  • แชมป์ รายการ Gent–Wevelgem ในปี ค.ศ 1979
  • แชมป์ รายการ Zuri-Metzgete ในปี ค.ศ 1977
Moser-Bike
โดย หลังจากที่ฟรานซิสโก ได้เลิกการเป็นนักปั่นจักรยานอาชีพ ในปี ค.ศ 1987 เขาได้รับตำแหน่งเป็นประธานให้กับ CPA ( Cyclistes Professionels Associes) ในปี ค.ศ 1999 และเขายังเป็นผู้บุกเบิกการพัฒนาเทคโนโลยี "Aerodynamic technology in cycling" หรือการพัฒนาจักรยานทางด้าน หลักอากาศพลศาสตร์ในการขี่จักรยาน นั่นเองครับ

วันเสาร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2554

การฝึกซ้อมจักรยานมากเกินไปมีผลร้ายกว่าที่คุณคิด

Overtraining

    หลายท่านคงคิดว่าการฝึกซ้อมจักรยานมากๆ ซ้อมหนักๆ ซ้อมทุกวันถึงจะแข่งแกร่ง เมื่อก่อนตอนเป็นเด็กเริ่มปั่นจักรยานใหม่ๆ ผมก็เคยคิดแบบนั้นครับ แต่พอผมโตขึ้น และได้ค้นหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทั้งจากหนังสือ และ ทางอินเตอร์เน็ต จึงทำให้ผมได้รู้ว่าทำไม่เมื่อก่อนซ้อมทุกวันซ้อมหนักๆ มันไม่ทำให้ผมปั่นจักรยานได้ดีขึ้นเลย อาจจะดีขึ้นบ้างแต่น้อยมาก และการพัฒนาการทางด้านอื่นๆ ก็แย่ไปด้วยครับ เช่นการเรียน อารมณ์ และ ผลเสียทางด้านอื่นๆ อีกเยอะครับ ไม่ใช่ว่าผมแบ่งเวลาได้ไม่ดีนะครับ แต่หลังจากที่ผมลองมาคิดๆดู และนึกถึงโปรแกรมการฝึกซ้อมในสมัยก่อนแล้วมันก็หนักจริงๆ ครับ คือ ซ้อม 6 วันพัก 1 วัน โดยแต่ละวันไม่ได้มีการกำหนดว่าจะออกไปขี่แบบไหน คว้าจักรยานสูบยางแล้วก็ออกไปขี่ให้เหนื่อยสุดๆ ก็จบการซ้อมสำหรับวันนั้น ถ้าหากเป็นตอนนี้ผมคงป่วยนอนโรงพยาบาลไปแล้ว แต่สาเหตุที่ผมไม่ป่วยในตอนนั้นคงเป็นเพราะผมยังเป็นวัยรุ่นการฟื่นตัวของระบบร่างกายจะทำได้เร็วกว่าคนที่อายุเยอะๆ ยิ่งอายุยิ่งเยอะการฟื้นตัวก็จะยิ่งช้าตามไปด้วย ดังนั้นเราจะรู้ได้ยังไงว่าเราฝึกซ้อมมากเกินไป มีหลักในการสังเกตุดังนี้ครับ
  1. อารมณ์ของคุณจะแปรปรวนได้ง่ายโดยไร้สาเหตุ หรือมีอาการหงุดหงิดได้ง่าย รู้สึกหดหู่และเบื่อการฝึกซ้อมจักรยาน ข้อนี้หลายๆท่านคงเคยเป็นนะครับ อยู่ดีๆ ก็เบื่อการขี่จักรยานขึ้นมาเฉยๆ โดยไม่รู้สาเหตุ
  2. อัตราการเต้นของชีพจร เพิ่มขึ้นขณะท่านตื่นนอนใหม่ๆ ผมแนะนำให้ทุกท่านจับการเต้นของชีพจรตัวเองตอนตื่นใหม่ๆ วีธีคือ พอเราตื่นปุบยังไม่ต้องลุกจากเตียงครับ ทำการจับชีพจรของท่านก่อนเลยว่าเต้นกี่ครั้งต่อนาทีถ้าหากวัดแล้วอัตราการเต้นของชีพจรของท่านเพิ่มขึ้นเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของอัตราการเต้นปรกติในแต่ละวันแล้วละก็แสดงว่าท่านเริ่มมีความเสี่ยงต่อการฝึกซ้อมหนักเกินไป หรือ "Overtraining"แล้วละครับ
  3. เกิดอาการผิดปรกติทางด้านร่างกายของท่าน เช่นมีอาการท้องเสีย, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อย่างต่อเนื่องพักแล้วก็ยังไม่หายปวดเมื่อย อาการพวกนี้ก็เป็นส่วนที่จะบอกได้ว่าท่านเริ่มฝึกซ้อมหนักเกินไป
    สรุปแล้วการฝึกซ้อมหนักเกินไปหรือ "Overtraining" หมายถึงความเหนื่อยล้าเป็นเวลานานและซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพและความแข็งแกร่งของร่างกายลดลงแม้จะมีการฝึกซ้อมจักรยานเพิ่มขึ้น ผลของมันจะรวมถึงความเสียหายของกล้ามเนื้อการกระทำไซโตไคน์, การตอบสนองระยะเฉียบพลัน, โภชนาการที่ไม่เหมาะสมรบกวนอารมณ์ และผลการตอบสนองความหลากหลายของฮอร์โมนความเครียด และถ้าหากท่านตกอยู่ในอาการของการฝึกซ้อมหนักเกินไปแล้วละก็ท่านต้องใช้เวลาในการรักษาอาการนี้เป็นเวลานานเลยครับ โดยทั่วไปแล้วจะใช้เวลาประมาน 1-2 เดือนเลยละครับโดยในระหว่างการพักให้ร่างกายฟื้นกลับมาเหมือนเดิมนั้นท่านจะไม่สามารถออกไปขี่จักรยานซ้อมได้เลยครับ จะเห็นได้ว่าผลของมันนั้นร้ายแรงกว่าที่เราคิดไว้เยอะครับ ดังนั้นการรักษาที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดการฝึกซ้อมหนักเกินไปหรือ"Overtraining"นั่นเองครับ

วันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2554

วิธีเลือกซื้อจักรยาน

วิธีเลือกซื้อจักรยาน

    ในการที่จะหาซื้อจักรยานมาใช้ซักคันนั้นหลายท่านคงคิดอยู่หลายวันหากท่านมีงบประมานที่จำกัดแต่ถ้าท่านมีฐานะค้อนข้างดีเรื่องงบประมานก็ตัดออกไปได้เลย และจะทำให้ท่านสามารถเลือกจักรยานได้ตามใจชอบโดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับงบประมาน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วประมาน 80 เปอร์เซ็น จะมีงบประมานจำกัดจึงเป็นสิ่งที่เราต้องคิดคำนวน และวางแผนในการเลือกซื้อจักรยานมาใช้ โดยผมจะนำเสนอแนวคิดแบบเป็นกลางๆ เพื่อให้ท่านนำไปประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อจักรยาน นะครับ
  1. วัตถุประสงค์ของการซื้อจักรยาน คือคุณจะนำจักรยานที่คุณซื้อมาไปใช้แบบใหน ยกตัวอย่างเช่น ใช้สำหรับแข่งขัน หรือ แค่ใช้ในชีวิตประจำวัน ถ้าคุณนำมาใช้แข่งขันคุณต้องคำนึงปัจจัยหลายอย่างเช่น ไซด์ของจักรยานคุณควรวัดความสูง และช่วงขา ของคุณ แล้วนำไปคำนวนหาไซด์ที่เหมาะสม หรือหากคุณซื้อมาเพื่อใช้ขี่ไปทำงาน หรือไปโรงเรียน คุณก็ไมต้องกังวลกับไซด์ของจักรยานมาก และราคาของรถก็จะไม่แพงด้วยครับ
  2. หาข้อมูลหรือหาซื้อจักรยานในย่านหรือจังหวัดที่คุณอาศัยอยู่ มันจะทำให้จักรยานที่คุณซิ้อมาหากเกิดมีปัญหาหรือมีระบบอะไรขัดข้องเราสามารถ ขอรับคำปรึกษาได้ง่าย และควรเลือกร้านจักรยานที่ท่านคิดว่า มีการบริการและเอาใจใส่ลูกค้าดีพอสมควรไม่ใช่ว่าจักรยานเกิดมีปัญหาแล้วไม่รับผิดชอบอย่างนี้ก็แย่นะครับ
  3. ท่านควรหาความรู้ในเรื่องจักรยานและอะไหล่จักรยาน เพื่อประดับความรู้ของท่านเพิ่มเติมบ้าง ก่อนที่ท่านจะทำการตัดสินใจซื้อจักรยานมาใช้ เช่น ราคาของจักรยาน, ประเภทของอะไหล่ และ ราคาอุปกรณ์ เพื่อท่านจะได้นำมาเป็นข้อมูลเปรียบเทียบประกอบการตัดสินใจ แหล่งข้อมูลนั้นมีมากมายครับทั้งจาก อินเตอร์เน็ต และ นิตยสารเกี่ยวกับจักรยาน โดยส่วนตัวแล้วผมแนะนำทางอินเตอร์เน็ตครับ เพราะข้อมูลจะมีการอัพเดท ให้อย่างสม่ำเสมอ และรวดเร็วกว่านิตยสาร
  4. คุณควรกำหนดงบประมาณที่แน่นอนของคุณ พยายามอย่าให้งบบานปลายเพราะบางทีเราเข้าไปในร้านขายจักรยานแล้วส่วนใหญ่จะอดใจไว้ไม่ได้ หากพบของสวยๆ หรืออะไหล่ดีๆ รูปแบบโดนใจ ประกอบกับโดนพนักงานขายกล่อม งานนี้ถ้าท่านไม่กำหนดงบประมานที่ชัดเจน ผมรับรองได้เลยว่างบประมาณ บานปลายแน่นอนครับ
  5. เตรียมงบประมานบางส่วนเผื่อสำหรับอุปกรณ์ที่จำเป็น ในการปั่นจักรยานด้วยนะครับยกตัวอย่างเช่น หมวกกันน็อค, กระป๋องน้ำ, รองเท้าจักรยาน และอีกหลายอย่างที่จะตามมาครับ
หวังว่าเพื่อนคงได้แนวคิดในการตัดสินใจ ซื้อจักรยาน มาใช้ บ้างไม่มากก็น้อยครับ

วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554

ประวัตินักปั่นจักรยาน ชื่อ Joop Zoetemelk

Joop Zoetemelk

    Joop Zoetemelk หรือ ชื่อจริงของเขาคือ "Hendrik Gerardus Jozef Zoetemelk" ชื่อเล่นของเขาคือ "Joop" เขาเกิดวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ 1946 เป็นชาวเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันเขาอายุได้ 64 ปี ครอบครัวของเขาเป็นเกษตรกร ตัวเขาเองก่อนที่จะมาเป็นนักปั่นจักรยานเขาเคยเป็นช่างไม้มาก่อน และเคยเป็นนักเล่นสเก็ตประเภทความเร็ว ก่อนที่จะผันตัวเองไปเป็นนักปั่นจักรยานในปี ค.ศ 1964 และได้ขึ้นไปเป็นนักปั่นจักรยานอาชีพในปี 1969 โดยสังกัดทีม "Briek Schotte's Belgian" ต่อมาในปี 1970 เองเขาได้เข้าร่วมการแข่งจักรยานรายการ ทัวร์เดอะฟรอง แต่ก็ได้แค่ที่ 2 โดยเขาพ่ายให้กับ เอ็ดดี้ เมิร์ก

ผลงานที่โดดเด่นจากการเป็นนักปั่นจักรยานของเขาคือ
ปี 1968 ได้เหรียญทองประเภททีม 100 ก.ม ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
ปี 1969 ได้แชมป์ Tour de l'Avenir,
ปี 1970 ได้อันดับที่ 2 ทัวร์เดอะฟรอง,
ปี 1971 ได้อันดับที่ 2 รายการ ทัวร์เดอะฟรอง, รายการ Vuelta a Espana: ได้ตำแหน่งเจ้าภูเขา
ปี 1972 ได้อันดับที่ 5 รายการ ทัวร์เดอะฟรอง
ปี 1973 ได้อับดับที่ 4 รายการ ทัวร์เดอะฟรอง, อันดับ 1 รายการ Paris–Nice และ Tour de Romandie
ปี 1975 ได้อับดับที่ 4 รายการ ทัวร์เดอะฟรอง, อันดับ 1 รายการ Paris–Nice และ Ronde van Nederland
ปี 1976 ได้อันดับที่ 2 รายการ ทัวร์เดอะฟรอง, อันดับ 1 รายการ La Fleche Wallonne
ปี 1977 ได้อันดับที่ 8 รายการ ทัวร์เดอะฟรอง, อันดับ 1 รายการ Paris–Tours
ปี 1978 ได้อันดับที่ 2 รายการ ทัวร์เดอะฟรอง
ปี 1978 ได้อันดับที่ 2 รายการ ทัวร์เดอะฟรอง, อันดับ 1 รายการ Vuelta a Espana, Paris–Nice, Paris–Tours, Criterium International
ปี 1980 ได้แชมป์ รายการ ทัวร์เดอะฟรอง
ปี 1981 ได้อับดับที่ 4 รายการ ทัวร์เดอะฟรอง
ปี 1982 ได้อันดับที่ 2 รายการ ทัวร์เดอะฟรอง
ปี 1985 ได้อันดับที่ 1 รายการ ชิงแชมป์โลก, Tirreno–Adriatico, Veenendaal–Veenendaal
ปี 1987 ได้อันดับที่ 1 รายการ Amstel Gold Race
    Joop Zoetemelk ได้ยุติอาชีพการเป็นนักปั่นจักรยานในปี 1987 หลังจากนั้น เขาได้ไปเป็นผู้จักการทีมให้กับทีม Superconfex และ Rabobank

วันพุธที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2554

เทคนิคในการแข่งขันจักรยานทางไกล

การแข่งขันจักรยานทางไกล

    การแข่งขันจักรยานประเภททางไกลนั้นโดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่มีประสบการณ์ในการแข่งขันมากๆ จะได้เปรียบและมีโอกาสในการชนะสูงกว่านักปั่นจักรยานมือใหม่ๆ หรือผู้ที่กำลังก้าวขึ้นมาแข่งขันจักรยานทางไกล เพราะมันมีเทคนิคอะไรต่อมิอะไรเยอะพอสมควร โดยในการแข่งขันนั้นผู้ทำการแข่งขันต้องใช้ไหวพริบ ประกอบกับพละกำลังของนักปั่นจักรยานเอง และประสบการณ์ในการแข่งขัน โดยประสบการณ์ในการแข่งขันจริงจะช่วยได้มาก จะเห็นได้ว่านักปั่นจักรยานมือใหม่ส่วนใหญ่ที่พึ่งเริ่มการแข่งขันได้ไม่นานจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าใหล่ พอนานๆไปประการณ์ในการแข่งขันเพิ่มขึ้นพวกเขาเหล่านั้นก็จะค่อยๆ ประสบความสำเร็จจากการแข่งขันเพิ่มขึ้น จะมากหรือน้อยนั้นตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับการฝึกซ้อมและ พละกำลังของแต่ละคน โดยในวันนี้ผมจะมานำเสนอเทคนิคเล็กๆน้อยในการแข่งขันจักรยานประเภททางไกล บางท่านอาจจะรู้แล้วก็ขออภัยด้วยครับ เผื่อสำหรับท่านที่อาจจะยังไม่ทราบเพื่อเป็นแนวทางในการแข่งขันของ นักปั่นจักรยานมือใหม่ก็แล้วกันครับ

  1. ก่อนทำการแข่งเราต้องรู้ว่าเส้นทางในการแข่งขันนั้นจัดขึ้นที่ใหน และมีภูมิประเทศเป็นอย่างไร เป็นถนนแบบทางเรียบ หรือ ว่ามีเนินเขาหรือไม่ เพื่อที่เราจะได้นำมาวิเคราะห์ ว่าเราควรจะขี่แบบใหน ควรปรับแต่งอุปกรณ์อะไรหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่นถ้าสถานที่แข่งขันจักรยานมีลักษณะเป็นภูเขาสูงชันเป็นส่วนใหญ่เราควร ปรับปรุงอุปกรณ์ทางด้านระบบเกียร์โดยใช้อัตราทดที่สูงๆ หน่อย
  2. ทำการวิเคราะห์คู่แข่งของเราว่าเขามีจุดแข่งจุดอ่อนตรงใหน ลักษณะ และ สไตร์การขี่เป็นอย่างไร, เขาฝึกซ้อมมาดีหรือไม่ เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าเราควรขี่แบบไหน หรือควรคอยจับตาหรือระวังใครเป็นพิเศษ และถ้าหากเรารู้ว่าคู่แข่งของเราเป็นอย่างไรแล้วโอกาสในการชนะการแข่งขันจักรยานของเราก็มีสูงขึ้นตามไปด้วย
  3. ในระหว่างทำการแข่งขันเราควรใช้กำลังงานของเราอย่างมีประสิทธิภาพ และพยายามเก็บแรงไว้เผื่อมีการสปริ้นกันก่อนเข้าเส้นชัย วีธีที่ดีที่สุดในการเซฟพลังงานของเรา คือการ ปั่นตามหลังนักปั่นจักรยานคนอื่นๆ (ในภาษาจักรยานเขาเรียกว่า "จี้" ครับ) โดยวิธีนี้สามารถเซฟพลังงานของเราได้ถึง 40% เลยนะครับ
  4. ในระหว่างการแข่งขันพยายามหลีกเลี่ยงการใช้เบรคให้มากที่สุด เพราะถ้าหากเราทำการเบรคแล้วความเร็วของรถก็จะลดลง แล้วเราก็ต้องเสียแรงไปกับการเพิ่มความเร็วให้กลับมาคงที่เหมือนตอนก่อนที่เราจะทำการเบรค สรุปคือควรใช้เบรคในเวลาที่เราเห็นว่าฉุกเฉิน จริงๆครับ อีกอย่างหนึ่งครับเวลาเราทำการเข้าโค้งเราควรเข้าโค้งให้นิ่มนวลและราบลื่น เพราะการเข้าโค้งที่ดีสามารถลดเวลาในการแข่งขันจักรยานลงได้เยอะครับ ยิ่งถ้าสภาพสนามที่มีโค้งเยอะๆ การเข้าโค้งที่ดี, ราบลื่นและรวดเร็ว จะทำให้เวลาในการแข่งขันของเราดีขึ้นเยอะมากครับ
  5. ในระหว่างการแข่งขันควรใช้เกียร์ให้เหมาะสม คือ พยามยามใช้เกียร์ที่เราขี่แล้วสบายที่สุด ไม่ใช้เกียร์ที่หนักเกินไปเพราะจะทำให้กล้ามเนื้อของเราเกิดการล้าเร็วขึ้น และควรปรับเปลี่ยนเกียร์จักรยานขึ้นหรือลงตามสภาพสนามที่กำลังทำการแข่งขันด้วยนะครับ ไม่ใช่ว่าใช้เกียร์อยู่อันเดียวตลอดการแข่งขัน คือ หากเป็นทางขึ้นเขาเราควรปรับเกียร์รถจักรยานของเราให้มีอัตราทดที่สูงขึ้น เพื่อที่จะขึ้นเขาได้สบายขึ้น และมันจะทำให้กล้ามเนื่อขาของเราไม่เกิดการล้าเร็วจนเกินไปครับ

    ผมหวังว่าเทคนิคในการปั่นจักรยานเล็กๆน้อยๆนี้คงจะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนนักปั่นจักรยานบ้างนะครับหากใครต้องการเพิ่มเติมหรือแนะนำสามารถ Comment ได้ข้างล่างบทความนี้เลยครับตามสบายครับขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมชมบล็อกของผมครับ

วันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2554

วิธีเอาชนะคู่แข่งในช่วง 200 เมตรสุดท้ายของการแข่งขันจักรยานทางไกล

Cavendish

  • รู้เขารู้เรา ประโยคนี้ยังสามารถนำมาใช้ได้เสมอแม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานแค่ใหนก็ตาม คือคุณต้องรู้ว่าคู่แข่งของคุณมี ลักษณะ หรือ style การขี่จักรยานแบบใหน ฝีเท้าในการ สปริ้นจัดจ้านหรือไม่ วิธีสังเกตุแบบง่ายๆ ครับคือพวกที่สปริ้นดีๆ ส่วนมากจะคอยแปะคอยดูด จะไม่ค่อยขึ้นมาช่วยนำเท่าไหล่เพราะพวกเขาเหล่านี้ จะพยายามเก็บแรงไว้เพื่อมาสปริ้นหน้าเส้นชัย ถ้าหากคุณรู้ Style การขี่จักรยานของเขาเหล่านั้นแล้วมันก็จะง่ายในการวางแผนว่าเราจะเอาชนะคู่แข่งของเราได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากคุณสปริ้นไม่ดีเท่าไหล่ และในการแข่งขันจักรยานทางไกลกลุ่มของคุณมีตัวที่สปริ้นเก่งๆ ติดมาด้วยคุณควรหาวิธีสลัดเขาให้หลุด หรือ ทำให้เขาเหนื่อยและล้าที่สุด ก่อนจะเข้าเส้นชัยเพราะถ้าหากเขายังมีแรงเหลือเยอะ คุณจะไม่สามารถเอาชนะพวกเอาในการสปริ้นหน้าเส้นได้ครับ
  • การใช้พลังงานของเราอย่างระมัดระวัง คือพยายามเก็บแรงของเราใว้ให้ได้มากที่สุดระหว่างการแข่งขันจักรยานทางไกล ไม่ใช้พลังงานอย่างพร่ำเพรื่อ พูดง่ายๆ ภาษานักปั่นจักรยานก็คือ ไม่ยิงพร่ำเพรื่อ นั่นเองครับ ดังนั้นถ้าคุณตัดสินใจที่จะยิงแล้วคุณต้องมั่นใจว่าคุณจะสามารถขี่จักรยานต่อไปแบบเดี่ยวจนเข้าเส้นชัยได้ คุณต้องแบ่งการใช้พลังงานของคุณให้คุ้มค่าที่สุด และไม่ต้องสนใจว่าใครจะหาว่าคุณกินแรงไม่ช่วยนำ เพราะว่ามันอยู่ในเกมส์การแข่งขัน เพราะการแข่งขันจักรยานระยะทางไกลๆ คนที่แข็งแกร่งกว่าอาจจะไม่ชนะเสมอไปครับ เพราะมันต้องใช้สมองด้วยครับ
  • ตำแหน่งของคุณในช่วงก่อนการสปริ้น หน้าเส้นถ้าคุณไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่ดี แม้ว่าคุณจะสปริ้นดีคุณอาจจะขึ้นไม่ได้เพราะโดนกั๊ก นั่นเองครับดังนั้นก่อนถึงระยะยิงของคุณ คุณควรทำให้ตัวคุณอยู่ในตำแหน่ง ด้านหน้าๆ ไว้ครับ
  • การฝึกฝนอย่างจริงจัง และในท้ายที่สุดแล้วทุกอย่างจะสำเร็จได้ก็ต้องมาจากการฝึกฝน ถ้าหากคุณไม่ใช่ผู้ที่มีฝีเท้าจัดจ้านคุณควรฝึกให้คุณมีความแข็งแกร่งอดทนมากที่สุด และถ้าหากคุณเป็นตัวสปริ้นแล้วละก็คุณควรเสริมการฝึกทางด้านความอดทนของคุณเสริมเข้าไปด้วย ครับ ดังนั้นทุกอย่างก็ต้องมาจากความขยันหมั่นเพียรนั่นเองครับ หากคุณมีวินัยในตนเองมีความรับผิดชอบในหน้าที่แล้วความสำเร็จในอาชีพนักปั่นจักรยานก็อยู่ไม่ไกลครับ

วันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2554

ประวัตินักปั่นจักรยาน ชื่อ จีโน่ บาร์ทาลี่

Gino Bartali

    จีโน่ บาร์ทาลี่ "Gino Bartali" เกิดวันที่ 18 กรกฏาคม ค.ศ 1914 ปัจจุบัน นั้นเขาได้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อ วันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ 2000 จีโน่ เป็นชาวอิตาเลี่ยน ซึ่งเขาเป็นนักปั่นจักรยานที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จีโน่ในวัยเด็กนั้นเขาเริ่มหารายได้พิเศษจากการทำงานในร้านจักรยานแห่งหนึ่งในอีตาลีตอน อายุได้13ปี เขาเริ่มเข้าร่วมการแข่งขันจักรยานระดับสมัครเล่น และ พออายุได้ 21 ปีเขาก็เริ่มทำการแข่งขันอาชีพ ซึ่งตรงกับปี ค.ศ 1935 โดยในปีต่อมาเขาก็ได้แชมป์ การแข่งขันของอิตาลี จีโน่ นั้นได้ชื่อว่าเป็นนักปั่นจักรยานที่สามารถทำผลงานได้ดีเวลาทำการแข่งแบบขึ้นเขา ฉายาของเขาคือ "King of the Mountains"

Gino Bartali
จีโน่ ได้เลิกอาชีพการเป็นนักปั่นจักรยาน ตอนเขาอายุได้ 40 ปี หลังจากที่เขาได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน โดยผลงานที่ทำให้เขามีชื่อเสียงคือ เขาได้แชมป์ "Giro d' Italia" สองปีซ้อนคือในปี 1936 และ 1937 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่จะมี สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาการได้แชมป์ ทัวร์เดอะฟรองซ์ ในปี ค.ศ 1948 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงแล้ว

วันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ Fabian Cancellara ขี่จักรยาน time trial ได้เร็วที่สุดในโลก

Fabian Cancellara

    การขี่จักรยานประเภท Time Trial นั้นมักจะมีบรรจุอยู่ในรายการแข่งขันแทบทุกรายการไม่ว่าจะเป็นรายการเล็กๆ ไปจนถึงรายการแข่งขันจักรยานระดับโลกอย่างเช่น ทัวร์เดอะฟรองซ์ หรือ การแข่งขันชิงแชมป์โลก การแข่งขันประเภทนี้โดยทั่วไปแล้วหลายๆ ท่านคิดว่าเป็นการแข่งขันที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรมากแค่ปล่อยตัวแล้วก็จับเวลาใครทำเวลาน้อยที่สุดก็ชนะไป แต่ที่จริงแล้วมันมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ จุกจิกยิ่งกว่าการแข่งขันจักรยานประเภทอื่นมากครับ และการที่ใครจะสามารถขี่จักรยานประเภทนี้แล้วทำได้ดีนั้นจะต้องมีวินัยในการฝึกซ้อมและทุ่มเทให้กับมันอย่างจริงจังจึงจะประสบความสำเร็จได้ครับ
โดยวันนี้ผมจะกล่าวถึงนักปั่นจักรยานที่สามารถขี่จักรยานประเภทนี้ได้ดีและทำเวลาได้ดีที่สุดในโลกครับ เขาคือ Fabian Cancellara เขาผู้นีมีอะไรดีและทำไม่เขาถึงขี่ Time Trial ได้เร็วที่สุดในโลก

  • สรีระร่างกายที่เหมาะสม โดยส่วนมากแล้วนักปั่นจักรยานที่มีรูปร่างใหญ่ จะได้เปรียบเรื่องที่เขาสามารถผลิตกำลังงานได้มากกว่านักปั่นที่มีรูปร่างเล็กยิ่งถ้าเป็นการปั่นจักรยานประเภท Time Trial แล้วยิ่งมีความสำคัญครับ เพราะยิ่งสามารถผลิตกำลังงานออกมาได้มากก็จะสามารถต่อสู้กับแรงเสียดทานของอากาศได้มากตามไปด้วยครับ เพราะอุปสรรคสำคัญในการแข่งขันจักรยานประเภท Time Trial ก็คือ ลมหรืออากาศที่มาปะทะกับผู้ขี่นั่นเองครับ ยิ่งถ้านักปั่นจักรยานผู้นั้นมีร่างกายสูงใหญ่ และ มีน้ำหนักเบา จะทำให้ได้เปรียบสำหรับการแข่งขันจักรยานประเภทนี้มากครับ
  • การที่เขามีสรีระร่างกายที่พิเศษ แตกต่างจากนักปั่นจักรยานคนอื่นๆ โดยลักษณะพิเศษนี้ทำให้เขาสามารถขี่จักรยานประเภทนี้ได้ดี และผลิตกำลังงานออกมาได้กว่านักปั่นคนอื่นๆ
  • ท่าทางในการขี่ที่สมบูรณ์แบบ คือการที่เขาสามารถปรับให้ตัวเองให้ขี่จักรยานประเภทนี้ได้ลู่ลมที่สุด และผลิตกำลังงานออกมาได้มากจากท่าที่เขาขี่นั้น คือการที่จะทำเวลาได้ดีในการแข่งขันจักรยานประเภทนี้คือเราต้องจัดท่วงท่าในการขี่ให้มีความลู่ลมหรือให้ประทะกับลมน้อยที่สุดครับ
  • อุปกรณ์ และ จักรยานต้องมีความลู่ลม หลังจากที่ทำท่าทางการขี่ให้ลู่ลมแล้วเรื่องอุปกรณ์ และส่วนประกอบของจักรยานก็มีความสำคัญครับ ต้องมีความ ลู่ลม และเหมาะสมกับผู้ขี่คนนั้นด้วย
  • ต้องมีใจรักในการขี่จักรยานประเภทนี้ ยกตัวอย่างง่ายๆครับ เช่น ผมชอบปั่นจักรยานแต่ผมไม่ชอบปั่นระยะทางไกล ดังนั้นผมขี่แข่งขันประเภททางไกลได้ไม่ดี คือถ้าเราชอบอะไรเราจะสามารถทำสิ่งนั้นได้ดี
  • มีการฝึกซ้อมที่เข้มข้นและมีคุณภาพ การที่ Fabian Cancellara ขี่จักรยานประเภทนี้ได้ดีนั้นไม่เฉพาะแค่เขามีใจรักในการขี่ประเภทนี้เท่านั้น เขาต้องฝึกฝนอย่างหนัก และ มีการทดสอบจับเวลาอย่างสม่ำเสมอ โดยในที่นี้ต้องใช้เวลาเป็นปีๆ หลายปีกว่าที่เขาจะมาถึงจุดนี้ได้