การแข่งขัน จักรยาน รายการต่างๆ ที่น่าสนใจ

รวบรวมการแข่งจักรยาน รายการต่างๆ ที่น่าสนใจ ในส่วนนี้ ผมจะพยายาม หามาฝาก ให้ได้มากขึ้นครับ

จักรยานเสือภูเขา

สำหรับ ท่านที่เป็นแฟน จักรยานเสือภูเขา ทางผมจะพยายาม นำเรื่องราว เกี่ยวกับจักรยานประเภทนี้มานำเสนอให้มากขึ้น ครับ ที่ผ่านมา ผมคิดว่ามันยังน้อยอยู่ โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยถนัด ทางเสือภูเขามากเท่าไหร่ครับต้องขออภัย ไว้ล่วงหน้าหากมีข้อมูลผิดพลาด ครับ

อะไหล่ จักรยาน และเทคโนโลยี ต่างๆ

ในปัจจุบัน มีการพัฒนาไปมากครับ จนเราๆ ท่านๆ แทบจะหาเงิน มาเปลี่ยน อะไหล่พวกนี้กันแทบไม่ทัน ใครที่มีทุนมากหน่อย ก็สบายหน่อยครับ ได้ใช้ของใหม่ ก่อนใครเพื่อน ส่วนใครทุนน้อย ก็คงต้องรอของมือสองกันละครับ

จักรยาน BMX

จักรยาน BMX เป็นจักรยานที่ได้รับความนิยม มาอย่างยาวนาน และการพัฒนาของจักรยานประเถทนี้ ก็ไม่ได้น้อยหน้ากว่า จักรยาน ประเภทอื่นเลยครับ

จักรยาน ไทม์ไทรอัล

จักรยาน ประเภท ไทม์ไทรอัล หรือที่ใครหลายคน เรียกว่าจรวจทางเรียบ นั่นแหละครับ

วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2555

ตารางขนาด ล้อและยางจักรยาน

ยางจักรยาน

วันนี้ผมได้นำตาราง ขนาดล้อ และยาง จักรยาน มาฝากครับ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับหลายๆ คนที่กำลัง จะหาซื้อยางจักรยาน มาเปลี่ยน หรือท่านที่กำลัง มองหาขอบล้อจักรยาน คู่ใหม่อยู่ และบางท่านอาจจะไม่รู้ว่า ล้อรถจักรยานที่ใช้อยู่ ขนาดเท่าไหร่ และควรใช้กับยางขนาดใด ผมจึงได้ไปหาตารางข้อมูล ขนาดล้อ และยาง มาฝากทุกคนให้ได้ศึกษากันครับ

ตารางขนาดล้อ และยางจักรยาน


เส้นผ่าศูนย์กลาง ของวงล้อ (ISO) หน่วยเป็น มิลลิเมตร ขนาดของล้อ และยางที่คนทั่วไป นิยมเรียกกัน ชนิดของจักรยานที่ใช้ล้อขนาด ดังกล่าว
203 12½ x ??? จักรยานเด็ก
305 16 x 1.75 ถึง 16 x 2.125 จักรยาน recumbent บางรุ่น, จักรยานสำหรับเด็ก
317 16 x 1¾ จักรยานสำหรับเด็กยี่ห้อ Schwinn
340 400A จักรยานเด็ก ที่ผลิตมาจากทวีปยุโรป
349 16 x 1⅜ จักรยานเมาเทนไบค์ รุ่นแรกๆ
355 18 x 1.5 ถึง 18 x 2.125 ใช้สำหรับจักรยานที่ผลิต จากบริษัท Burley
369 17 x 1¼ จักรยานเมาเทนไบค์ ยี่ห้อ Alex
390 450A จักรยานสำหรับเด็ก ที่ผลิตมาจากทวีปยุโรป
406 20 x 1.5 จักรยาน BMX รุ่นทั่วๆไป
419 20 x 1¾ จักรยานสำหรับเด็กยี่ห้อ Schwinn
440 500A จักรยานเด็ก ที่ผลิตมาจากทวีปยุโรป และ จักรยานพับ
451 20 x 1⅛, 20 x 1¼, 20 x 1⅜ จักรยาน recumbent บางรุ่น และ จักรยาน BMX บางรุ่น
457 22 x 1.75 ถึง 22 x 2.125 จักรยานสำหรับเด็ก
490 550A จักรยานเสือหมอบ สำหรับเด็ก ที่ผลิตมาจากประเทศแถบทวีปยุโรป
507 24 x 1.5 ถึง 24 x 2.5 จักรยานเมาเทนไบค์ สำหรับเด็ก และ cruisers bike
520 24 x 1, 24 x 1⅛ ใช้สำหรับล้อหน้าของจักรยาน ยี่ห้อ Terry บางรุ่น
540 24 x 1⅛, 24 x 1⅜ รถเข็นคนพิการ (wheelchairs)
547 24 x 1⅛, 24 x 1⅜ จักรยานสำหรับเด็กยี่ห้อ Schwinn
559 26 x 1.0 to 26 x 2.5 จักรยานเมาเทนไบค์ รุ่นใหม่ๆ
571 26 x 1, 26 x 1¾, 650C จักรยาน cruisers ยี่ห้อ Schwinn รุ่นเก่าๆ, สำหรับ 650C จะใช้สำหรับจักรยานเสือหมอบรุ่นใหม่ๆ ที่ผลิตมาเป็นพิเศษ สำหรับนักปั่นจักรยานรูปร่างเล็กๆ
584 26 x 1½, 650B จักรยานเมาเทนไบค์ ยี่ห้อ Raleigh และ Schwinn บางรุ่น, จักรยานทัวริ่งไบค์ ที่ผลิตในประเทศ ฝรั่งเศส
587 700D จักรยานยี่ห้อ GT บางรุ่น
590 26 x 1⅜ (EA3), 650A จักรยาน ที่ผลิตขึ้นมาเป็นพิเศษสำหรับนักปั่นตัวเล็กๆ ผลิตจากประเทศ อิตาลี
597 26 x 1¼, 26 x 1⅜ (S-6) จักรยานจากประเทศอังกฤษรุ่น เก่าๆ, จักรยานยี่ห้อ Schwinn ที่ผลิตระหว่างปี 1960 ถึง 1970
599 26 x 1.25, 26 x 1.375 จักรยานรุ่นเก่าๆ ที่ผลิตจากประเทศ อเมริกา
622 700C, 29Inch จักรยานเสือหมอบรุ่นปัจจุบัน, 29inch สำหรับจักรยานเสือภูเขาขนาด 29"
630 27 x ??? จักรยานเสือหมอบรุ่นเก่าๆ
635 28 x 1½, 700B ไซส์มาตราฐาน สำหรับจักรยาน ทั่วไป ที่ใช้กันในประเทศแถบทวีปเอเชีย และประเทศเนเธอร์แลนด์

การวัดค่า เส้นผ่าศูนย์กลาง (ISO) ของล้อจักรยาน

เส้นผ่าศูนย์กลางล้อ จักรยาน
การวัดก็ไม่ยากครับ ใช้ตลับเมตรวัดจากริมบนสุดของขอบล้อ จนถึงริมข้างล่างสุดของล้อ โดยให้ผ่านจุดกึ่งกลางของดุมล้อ ตามภาพเลยครับ
ตามรูปที่ผมนำมาเป็นตัวอย่าง เป็นล้อของจักรยานเสือหมอบครับ ค่าที่ได้คือ 622mm ครับ







การดูขนาดยางจักรยานเสือภูเขา

การอ่านค่ายางจักรยานเสือภูเขา
สังเกตุจากลูกศร สีเหลืองที่ผมทำเครื่องหมายไว้ ครับ ขนาดยาง คือ 26 x 2.40 ใช้กับจักรยานเสือภูเขา ขนาดล้อ 559mm. ได้พอดีครับ ซึ่งเป็นขนาดมาตราฐาน ของจักรยานเสือภูเขาที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน ยางยี่ห้อนี้เขาบอกว่าเราสามารถสูบลมเข้าไปได้สูงสุดถึง 65PSI ด้วยครับดีจังเลย



ขนาดยางของจักรยานเสือหมอบ
ยางจักรยานเสือหมอบ
ดูที่ลูกศรที่ผมทำเครื่องหมายไว้ครับ ขนาดยาง 700x23c ซึ่งยางดังกล่าวสามารถใช้กับขอบล้อ จักรยานเสือหมอบขนาด 622mm. นั่นเองครับ ส่วน 23c นั้นหมายถึงความกว้างของหน้ายางครับ คือ 23mm. จักรยานที่ผมใช้อยู่ ล้อหลังผมใช้ 700x23c ส่วนล้อหน้าผมใช้ 700x20c ครับ
ขอบคุณครับ


บทความอื่นที่น่าสนใจ : อัตราทดเกียร์สำหรับ จักรยาน

วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2555

อัตราทดเกียร์สำหรับ จักรยาน

ระบบเกียร์ของรถจักรยาน นั้นหากเราทำความคุ้นเคย และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง และชำนาญแล้วนั้น จะทำไห้เรามีความได้เปรียบ ในการแข่งขันอย่างแน่นอน ครับ หากคุณใช้เกียร์ ให้เหมาะสม กับสภาพภูมิประเทศ และความแข็งแรงของร่างกาย แล้วละก็ โอกาสที่คุณจะประสบความสำเร็จ ในการแข่งขัน ไม่ว่า จะแข่งขันจักรยานทางเรียบ หรือ ทางที่มีภูเขาเยอะๆ ดังนั้น คุณต้องเลือกใช้เกียร์ให้เป็นด้วยครับ (ไม่ใช่โชว์เทพ ใส่ ใหญ่ 1 ขึ้นภูเขา อันนี้ผมเคยเจอมาแล้วครับ แต่แล้วสักพัก เขาก็ไปไม่รอดครับ โดนสวน แล้วค่อยๆ หายออกจากกลุ่มไป มันเป็นประสบการณ์ ตอนยังเด็กๆ ครับ!!) ปล. "ใหญ่ 1" ในที่นี้หมายถึง ใช้จานหน้า อันใหญ่สุด และใช้เฟืองหลังอันเล็กสุด นั่นแหละครับ มันเป็นภาษาของชาว จักรยาน ที่เรียกกันมานานแล้วครับ ไม่รู้เดี๋ยวนี้เขาเรียกว่าอะไร แต่เมื่อก่อนเขาเรียกกันแบบนี้จริงๆ ครับ

วันนี้ผมเลยนำ ตารางอัตราทดเกียร์สำหรับ จักรยาน มาฝากครับ

อัตราทดเกียร์ จักรยาน

จากรูปตารางข้างบน (Ring หมายถึง จำนวนฟันของจานหน้า) ส่วน (Cog หมายถึง จำนวนฟันของเฟืองหลัง) ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว จักรยานเสือหมอบ ใบจานหน้าจะมี 2 ใบ คือ 39 และ 53 หรือ หากเป็นรุ่น คอมแพค จะเป็น 39 กับ 50 ส่วนเฟืองหลังนั้น จะเริ่ม ตั้งแต่ 11 ไปจนถึง 25 ครับ โดยเฟืองหลังของจักรยาน เสือหมอบทั่วไป จะมีประมาณ 10 - 11 ใบ แล้วแต่ยี่ห้อครับ สมัยผมขี่นั้น แค่ 7 ใบก็หรูแล้วครับ เดี๋ยวนี้ มีเยอะจริงๆ จักรยานของผมมีแค่ 10 ใบ ผมยังใช้ไม่ทั่วถึงเลยครับ เข้าเรื่องดีกว่าครับ สังเกตุจากตัวเลขนะครับ ตัวเลขยิ่งเยอะ ยิ่งหนักครับ คือ เราต้องออกแรงปั่นเพิ่มขึ้นนั่นเองครับ

ผมขอยกตัวอย่าง การใช้เกียร์ ในการฝึกซ้อมจักรยานของผมเลยนะครับ คือ ผมจะปั่นเพื่ออบอุ่นร่างกาย ก่อน ประมาน 10 กิโลเมตร โดยเริ่มใช้ เกียร์ 39/17 ซึ่งอัตราทดเกียร์ จะอยู่ที่ 2.3 และ ผมจะค่อยๆ เปลี่ยนเกียร์ให้หนักขึ้นเลยเลื่อย โดยผมจะรักษาระดับรอบขาให้อยู่ระหว่าง 85 - 90 RPM จนกระทั่ง ผมเปลี่ยนเกียร์ไปจนถึง 39/12 อัตราทดเกียร์ คือ 3.3 โดยแต่ละช่วงของอัตราทดนั้น ผมจะใช้เวลาในการอยู่ในช่วงนั้นประมาณ 2 - 3 นาที เพื่อนให้กล้ามเนื้อได้มีการปรับตัว โดยหลังจากนี้ผมจะเปลี่ยนไปใช้ อัตราทด 53/15 คือ ผมเปลี่ยนไปใช้จานหน้าอันใหญ่นั่นเองครับ โดย อัตราทด จะหนักขึ้นมาเป็น 3.5 ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 3.3 ซึ่งพอเราขึ้นจานใหญ่แล้ว พยายามรักษารอบขาไว้ อย่าให้ต่ำกว่า 70 RPM นะครับ ในช่วงแรกๆ สำหรับนักปั่นจักรยาน มือใหม่ ควรจะค่อยฝึกซ้อมโดย ค่อยๆ เพิ่มอัตราทดขึ้นเลื่อยๆ โดยรักษารอบขาไว้ อย่าให้ต่ำกว่า 70 RPM หากเราฝึกไปนาน เราจะสามารถใช้อัตราทด 53/11 ได้เองครับ ซึ่งมันเป็นอัตราที่หนักที่สุดแล้ว ยิ่งถ้าหากคุณใช้อัตราทด 53/11 และยังสามารถรักษารอบขาไว้ไม่ให้ต่ำกว่า 70 RPM ได้ ตลอดระยะทางการฝึกซ้อม ผมถือว่าคุณนั้นหาตัวจับได้ยากแล้วครับ
อัตราทดเกียร์มีผลต่อความเร็วของ จักรยาน

ส่วนตารางที่ 2 เป็นตารางที่แสดงให้เห็นถึง ระดับความเร็วของจักรยาน ที่เราได้จากการใช้เกียร์ในแต่ละระดับ ที่รอบขา 90 RPM ยกตัวอย่างเช่น ผมใช้อัตราทด 53/11 ความเร็วที่ได้ คือ 54.6 กิโลเมตร/ชั่วโมง ครับ หากเพื่อนๆ คนไหน อยากคำนวนเองก็ไม่ยากครับ เว็บที่ให้บริการนี้เป็นของฟรั่งครับชื่อเว็บ www.bikecalc.com ลองไปใช้บริการกันได้ครับ ไม่เสียเงินครับ

ซึ่งการเลือกใช้เกียร์จักรยานให้เหมาะสม นั้น มันมีปัจจัยหลายอย่าง เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยครับ เช่น
  • ลักษณะภูมิประเทศ หรือเส้นทางที่เราจะไป ทำการฝึกซ้อม หรือ แข่งขันจักรยาน จะมีความลาดชันแตกต่างกันออกไป ดังนั้นเราควรเลือกใช้อัตราทดเกียร์ ให้เหมาะสมกับ สภาพความลาดชัน คือพยายามรักษารอบขา (RPM) ให้อยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างกันมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับตอนที่เราขี่บนเส้นทางเรียบๆ ครับ

  • ความแข็งแรงของร่างกาย พละกำลังของนักปั่นจักรยาน แต่ละคนนั้น มีความแตกต่างกัน อยู่แล้วครับ ซึ่งจะส่งผลให้ แต่ละคนใช้อัตราทดเกียร์จักรยาน ที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น นักปั่นจักรยาน ระดับโปร หรือ ระดับอาชีพ พวกเขาเหล่านั้นส่วนใหญ่ จะมีกำลังขาที่แข็งแรงมากๆ ซึ่งจะส่งผลให้เขาเหล่านั้นสามารถ ใช้อัตราทดเกียร์ ที่หนักๆ ในรอบขาที่สูงๆ ได้ ถ้าหากเราอยากจะทำได้แบบเขาเหล่านั้น การฝึกซ้อมเป็นสิ่งสำคัญครับ รวมไปถึงผู้ฝึกสอนหรือโค้ช กีฬาจักรยาน ต้องมีความรู้ทางด้าน วิทยาศาสตร์การกีฬา และโภชนาการ สำหรับนักกีฬา ด้วยครับ จึงจะทำให้นักกีฬามีพัฒนาการที่ดีขึ้น ประกอบกับนักกีฬาเหล่านั้นต้องมีใจรักใน กีฬาจักรยาน ด้วยครับ จึงจะประสบความสำเร็จได้ครับ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ : นักปั่นจักรยานเขาเข้าโค้งกันยังไงให้เร็ว และปลอดภัย

วันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2555

นักปั่นจักรยานเขาเข้าโค้งกันยังไงให้เร็ว และปลอดภัย

วิธีการเข้าโค้ง สำหรับจักรยาน

หากเราพูดถึงการเข้าโค้งสำหรับ จักรยาน แล้วหลายคนอาจจะบอกว่าไม่เห็น จะยากเลย ก็แค่ขี่ๆ ไปแล้วก็เลี้ยว ไม่เห็นจะต้องไปคิดอะไรมากเลย อันนี้ หากคุณขี่จักรยาน ไปซื้อกระปิที่ตลาดก็ ไม่ต้องคิดอะไรมากครับ เพราะความเร็ว คงไม่เกิน 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง แน่นอน แต่หากคุณลองเข้าโค้งหักศอก ด้วยความเร็ว ที่เกิน 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป คุณจะรู้สึกได้เองครับว่า คำว่า "แหกโค้ง" นั้น มันมีความรู้สึกยังไง ผมว่าหลายท่านคงเคย ประสบกับเหตุการณ์ ดังกล่าวมาบ้างแล้วนะครับ ยิ่งถ้าหาก เป็นนักปั่นจักรยาน รุ่นก่อนๆ สมัยที่ เวลโลโดม มีแค่ที่สนามกีฬาหัวหมาก แห่งเดียวในประเทศไทย สมัยนั้น การแข่งขันจักรยานประเถทลู่ จะทำการแข่งขันกันในลู่วิ่ง ที่เป็นดินแดง นั่นแหละครับ ถ้านึกไม่ออก ก็คือสนาม แข่งขันกรีฑา วิ่ง 100 เมตร นั่นแหละครับ กว่าจักรยานประเภทลู่จะเริ่มการแข่งขันได้ ก็ต้องรอ ให้ กรีฑา แข่งขันกันให้ครบทุกรายการก่อนครับ หลังจากนั้น ก็จะมี รถบดถนนคันเล็ก เข้ามาวิ่งบด ลู่แข่งขันให้เรียบ และพรมน้ำไปด้วยให้พื้นสนามแน่นๆ ครับ พอวันรุ่งขึ้น คราวนี้ ก็ถึงคิว ของภาพกีฬามันๆ แล้วครับ เพราะการแข่งขันจักรยานประเภทลู่ แบบที่แข่งขันกันในลู่กรีฑานั้น โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุ มีค่อนข้างสูงครับ คือล้มกันเป็นว่าเล่นเลยครับ ไม่ใช่ว่าไม่เจ็บนะครับ แต่ต้องอดทนเอาครับ หากแข้งขาไม่ หัก ยังไงก็ต้องลุกขึ้นมาแข่งขันให้จบ เรื่องแบบนี้ผมถือว่าเป็นเรื่องธรรมดามากครับ สำหรับผม เพราะผมล้มบ่อยมากๆ ครับ ส่วนมากสาเหตุ หลักๆ คือประสบการณ์ ครับ ยิ่งมือใหม่ๆ โอกาสล้มจะสูงมากครับ แต่ถ้าหากเป็นมือเก๋าๆ แล้วละก็ ความเร็ว ระดับ 50 กว่าๆ ยังเข้าแบบนิ่มๆ เลยครับ สำหรับตัวผมนั้นเข้าโค้งไม่เก่งเท่าไหร่ครับ เลยล้มบ่อยกว่าเพื่อน แต่ก็พอจะรู้หลักการสำหรับการเข้าโค้ง มาบ้างครับ เลยจะขอมาแชร์ ให้ พี่ๆ เพื่อนๆ และน้องๆ เพราะอาจจะเป็นประโยชน์บ้าง ไม่มาก ก็น้อย ครับ

เทคนิคการเข้าโค้ง สำหรับนักปั่นจักรยาน

  1. สังเกตุและจดจำ พื้นผิวถนน ในข้อนี้ หากท่านได้ปั่นจักรยาน ในเส้นทางไดเส้นทางหนึ่งเป็นประจำ คุณจะสามารถจำได้เองครับว่า ตรงไหน มีหลุม หรือ รอยแตกตามพื้นผิวถนน ยิ่งหากท่านได ใช้จักรยานเสือหมอบ ราคาแพงๆ วงล้อคู่ละเป็นแสน หากขี่ไปเจอหลุมแล้วหลบไม่ทัน นึกเอาเองเถอะครับว่า จะรู้สึกยังไง แทบลมจับเลยละครับ อีกอย่างเลยนะครับ พวกปุ่มสะท้อนแสงกลางถนน เจอทีไร เป็นต้องกลุ้มทุกที ผมเป็นอีกคนหนึ่งเลยครับ ที่จะกลัวมากเรื่องพวกนี้เจอเป็นต้องหลบให้ทัน บ่นซะยาว เข้าเรื่องเลยนะครับ เวลาเราจะเข้าโค้งไดๆ ก็ตาม สายตาของเราควรมองไปที่จุด หรือเส้นทางที่เราต้องการ แล้วสังเกตุ พื้นผิวถนนว่า มีกลวดทราย หรือลอยแตกหรือไม่ หากมีเราควรหลีกเลี่ยงมันครับ

  2. เบรคก่อนเข้าโค้ง ในข้อนี้สำคัญมากครับ หากคุณขี่ จักรยาน มาด้วยความเร็วสูงมากๆ การใช้เบรคเป็นเรื่องที่สำคัญครับ ควรหาจุดเบรคที่ถูกต้อง และจุดนั้นจะต้องเกิดขึ้นก่อนคุณเข้าโค้ง และอย่าใช้เบรค ขณะที่อยู่ในโค้งครับ เพราะโอกาสที่คุณจะล้มนั้นมีสูงมาก หากท่านได เคยชมการแข่งขัน F1 หรือ การแข่งขัน มอเตอร์ไซค์ ชิงแชมป์โลก พวกนักแข่งพวกนี้จะมีความแม่นยำ ในการใช้เบรค และลายในการเข้าโค้งมากครับ สิ่งพวกนี้มันเกิดจากการฝึกฝน จนชำนาญ กว่าจะทำได้แบบนั้นอาจต้องฝึกกันเป็นปีๆ เพราะความแรงของรถนั้น ส่วนใหญ่ความแรงจะเท่าๆ กันครับ แต่ที่แตกต่างกันมันคือ ฝีมือ และประสบการณ์ ครับ อยากเข้าโค้งเก่งๆ อันนี้ต้องฝึกครับ

  3. เข้าโค้งให้ถูกลาย หลายท่านคงไม่ได้คำนึงถึงในจุดนี้ มากเท่าไหร่ แต่มันสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า หัวข้ออื่นเลยครับ และจำเป็นมากครับ หากท่านกำลังปั่นจักรยาน บนเส้นทางที่กำลังลงจากที่สูงชัน หรือ ภูเขา และเป็นเส้นทางที่มีโค้งเยอะๆ หากท่านไม่รู้ลายในการเข้าโค้งท่านจะลงเขาได้ช้ากว่าคนอื่นๆ อย่างแน่นอนครับ เพราะความเร็วในการ ปั่นจักรยาน ลงจากภูเขา นั้นสูงมากๆ ครับ คือจากประการส่วนตัวเลยนะครับ คือประมาณ 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไปครับ เรียกได้ว่า ไม่มีรถอะไรตามจักรยานทันเวลาลงเขาครับ พวกเราแซงหมด รู้สึกตอนนั้นผมไปปั่นจักรยานขึ้น ดอยอินทนนท์ กับพวกรุ่นพี่ๆ ที่ฝึกซ้อมด้วยกัน ครับ มันผ่านมาหลายปีแล้วครับ ตอนขึ้นเขามันไม่ค่อยสนุก เท่าไหร่ ครับ เพราะทั้งสูงชัน และไกลอีกต่างหาก แต่ตอนลงจากเขานี่ซิครับ อย่างมัน แทบจะเรียกว่าบินได้เลยครับ แต่ผมก็ตามพวกพี่ๆ เขาไม่ทันเพราะผมยังอ่อนประสบการณ์ ในการเข้าโค้ง สู้พวกรุ่นพี่ๆเขาไม่ได้จริงๆครับ ฝากไว้นิดหนึ่งนะครับ หากใครมีโปรแกรมจะปั่นจักรยาน ขึ้นเขา ควรเช็ค ระบบเบรค และยางให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี ด้วยครับ ปลอดภัยไว้ก่อนครับการเข้าโค้งสำหรับจักรยาน3.1 การเข้าโค้งที่ถูกลายเขาเข้ากันยังไง ผมมีรูปมาฝากด้วยครับ ผมจะอธิบายจากรูปเลยนะครับ เส้นสีแดง คือลายที่เราจะเข้านั่นเองครับ ส่วนเส้นสีเหลืองคือเส้นแบ่งเลน กลางถนนครับ ลายการเข้าโค้งแบบนี้ ใช้ได้ทั้ง จักรยาน, มอเตอร์ไซค์ และรถยนต์ ครับ เพราะมันจะทำให้ มุมที่เราจะเข้าโค้งนั้นกว้างขึ้นนั่นเองครับ ซึ่งจะส่งผลให้เราสามารถเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงได้นั่นเองครับ ซึ่งแต่ละโค้งในสภาพถนนจริงนั้น การทำมุมจะแตกต่างกันครับ ซึ่งความเร็วในการเข้าโค้งก็จะไม่เท่ากันทุกโค้งด้วยครับ ดังนั้นเขาจึงมีการฝึกซ้อม การเข้าโค้งกันจากสนามการแข่งขันจริงเพื่อ ที่จะได้ หาจุดเบรค ที่เหมาะสม และลายในการเข้าโค้งที่แม่นยำที่สุด ครับ

  4. อย่าปั่นในขณะที่อยู่ในโค้ง อันนี้ใช้เฉพาะการเข้าโค้งที่ความเร็วสูงๆ และจักรยานของเราต้องทำมุมเอียงมากๆ หากเราปั่นขณะที่อยู่ในโค้งมันจะทำให้บรรไดจักรยาน กระทบกับพื้นถนน แล้วทำให้เกิดอุบัติเหตุ ได้ครับ ลองดูจากรูปแรกของบทความครับ นักปั่นจักรยาน ทั้งสองคนกำลังเข้าโค้ง ซ้าย และดูที่ขาของพวกเขาครับ ขาซ้ายจะยกขึ้น เพื่อไม่ไห้บรรไดจักรยาน กระทบกับพื้นถนนครับ หากพวกเขาปั่นในขณะเข้าโค้งดังในภาพ ผมว่าล้มแน่นอนครับ คอนเฟิร์ม !! งั้นผมขอฝากทริค เล็กๆ น้อยๆ ในการเข้าโค้ง ครับ หากคุณเข้าโค้งซ้าย คุณควรถ่ายเทน้ำหนัก ไปที่มือ ขวา และเท้าขวา แล้วงอแขน เพื่อให้น้ำหนักตัวได้สมดุล ระหว่าง ล้อหน้า และล้อหลังครับ

  5. การเข้าโค้งในสภาวะถนนเปียก หรือฝนกำลังตก แน่นอนครับในสภาวะ ดังกล่าวเราไม่สามารถที่เข้าโค้งด้วยความเร็ว ที่เท่ากับ ขณะที่ถนนแห้งได้ ดังนั้นเราควรลดความเร็วลง ก่อนถึงโค้ง และต้องยิ่งระมัดระวังมากขึ้น หากฝนพึ่งตกใหม่ๆ เพราะพื้นถนนจะลื่นมาก ยิ่งถ้าใครใช้ ยางจักรยาน ที่เป็นแบบไม่มีดอก หรือที่เขาเรียกว่า ยางสลิค นั่นแหละครับ เพราะยางชนิดนี้จะเหมาะ สำหรับพื้นถนนที่แห้ง หากตอนฝึกซ้อมเกิดฝนตกขึ้นมา เราควรยิ่งต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะยางชนิดนี้เมื่อเจอถนนเปียกๆ จะลื่นมากๆ ครับ ผมก็เกือบล้มกับยาง ชนิดนี้หลายต่อหลายครั้งแล้วครับ เลยฝากบอกเพื่อนๆ ควรเลือกใช้ยางให้ถูกกับสภาพถนนด้วยนะครับ อย่าตามแฟชั่นมากเกินไปครับ ใส่แล้วมันปั่นได้เร็วลื่นใหลขึ้นก็จริง แต่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ด้วยนะครับ
ทั้งหมดที่ผมได้แนะนำมานี้ก็คงพอทำให้เพื่อนๆ นักปั่นจักรยาน  ได้ทราบถึงวิธีการเข้าโค้งที่ถูกต้องและปลอดภัยบ้างไม่มากก็น้อยครับ แต่ในที่สุดก็ขึ้นอยู่กับการที่เราหมั่นฝึกซ้อมบ่อยๆ ซึ่งอะไรที่เราทำบ่อยๆ พอนานๆ ไปก็จะเกิดความชำนาญขึ้นเองครับ

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ : การแข่งขันจักรยานประเภทลู่ชิงแชมป์โลก 2012

วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555

การแข่งขันจักรยานประเภทลู่ชิงแชมป์โลก 2012

โดยในปีนี้การแข่งขันจักรยานรายการนี้ได้จัดขึ้น ที่กรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 4 - 8 เมษายน 2012, ซึ่งรายการแข่งขันที่น่าสนใจที่ผมได้นำผลการแข่งขัน มาฝากแก่เพื่อนๆ คือ ประเภททีมเปอร์ซูท ชาย และ ประเภททีมสปรินท์ หญิง โดยทั้งสองรายการนี้มีความน่าสนใจยังไงเรามาดูกันครับ

แชมป์จักรยานทีมเปอร์ซูท ชาย 2012

แชมป์จักรยานทีมสปรินท์ หญิง 2012

โดยการแข่งขันจักรยานทั้งสองรายการนี้ได้แข่งขันกันในวันที่ 4 เมษายน 2012


แข่งขันจักรยานทีมเปอร์ซูท ชาย 2012 ประเภททีมเปอร์ซูท ชาย ระยะทาง 4 กิโลเมตร ซึ่งในรายการนี้ได้มีการทำลายสถิติโลกด้วยครับ โดยทีม จาก สหราชอาณาจักร ทำเวลาได้ 3:53.295 นาที ซึ่งสถิติโลกเดิม คือ 3:53.314 นาที ซึ่งเหรียญทอง ได้แก่ทีม สหราชอาณาจักร, เหรียญเงิน ได้แก่ทีมจาก ออสเตรเลีย และ  เหรียญทองแดง ได้แก่ ทีมจาก นิวซีแลนด์ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ครับ

ชนะเลิศเหรียญทอง ได้แก่ ทีมจาก สหราชอาณาจักร (Great Britai) ทำเวลาได้ 0:03:53.295 นาที
รายชื่อนักปั่นจักรยาน มีดังนี้
  • เอ็ดเวิร์ด แคลนซี (Edward Clancy)
  • สตีเฟน เบิร์ค (Steven Burke)
  • ปีเตอร์ แคนาว (Peter Kennaugh)
  • เจอเรียท โทมัส (Geraint Thomas)
รองชนะเลิศเหรียญเงิน ได้แก่ ทีมจาก ออสเตรเลีย (Australia) ทำเวลาได้ 0:03:53.401 นาที
รายชื่อนักปั่นจักรยาน มีดังนี้
  • เกล็น โอ เชีย (Glenn O'Shea)
  • แจ็ค บอบริช (Jack Bobridge)
  • โลฮาน เดนนิส (Rohan Dennis)
  • ไมเคิล เฮปเบิร์ (Michael Hepburn)
รองชนะเลิศเหรียญทองแดง ได้แก่ ทีมจาก นิวซีแลนด์ (New Zealand) ทำเวลาได้ 0:03:57.592 นาที
รายชื่อนักปั่นจักรยาน มีดังนี้
  • แอรอน เกท (Aaron Gate)
  • แซม เบวอรี่ (Sam Bewley)
  • เวสรี่ กอฟ (Westley Gough)
  • มาร์คไรอัน (Marc Ryan)

การแข่งขันจักรยานทีมสปรินท์ หญิง 2012 ประเภททีมสปรินท์ หญิง ซึ่งก็เป็นอีก 1 รายการ ครับ ที่มีการทำลายสถิติ โลก โดยของเดิม ทำเวลาไว้ที่ (0:00:32.754 นาที)

ชนะเลิศเหรียญทอง ได้แก่ทีม เยอรมนี  ทำเวลาได้ 0:00:32.549 นาที
รายชื่อนักปั่นจักรยาน มีดังนี้ครับ
  • Miriam Welte
  • Kristina Vogel
รองชนะเลิศเหรียญเงิน ได้แก่ทีม ออสเตรเลีย ทำเวลาได้ 0:00:32.597 นาที
รายชื่อนักปั่นจักรยาน มีดังนี้
  • Anna Meares
  • Kaarle McCulloch
รองชนะเลิศเหรียญทองแดงได้แก่ทีมจาก ประเทศจีน ทำเวลาได้ 0:00:32.870 นาที
ซึ่งมีรายชื่อนักปั่นจักรยาน ดังนี้ ครับ
  • Gong Jinjie
  • Shuang Guo

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ แก่แล้วแต่ยังปั่นจักรยานได้แรงเหมือนหนุ่มๆ

วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2555

แก่แล้วแต่ยังปั่นจักรยานได้แรงเหมือนหนุ่มๆ

ผู้สูงอายุปั่นจักรยาน
ต้องขออภัยด้วยนะครับ สำหรับการการตั้งชื่อ บทความ ที่ตรงไปตรงมาไปหน่อย โดยส่วนตัวแล้วผมก็เกือบจะแก่แล้วเช่นกันครับ เหตุที่ผม เขียนบทความนี้ ขึ้นมาเพราะว่าต้องการจะเป็นกำลังใจให้ ทุกท่านได้มีกำลังใจในการปั่น จักรยาน กันครับไม่ว่าคุณจะมีอายุ เท่าไหล่ นั้นมันไม่ใช้อุปสรรค ในการออกกำลังกายเลยครับ และข้ออ้างยอดฮิตอีกอย่างหนึ่งของผู้ที่ต้องการออกกำลังกายแต่ขี้เกียจ ก็คือ โดยส่วนใหญ่จะบอกว่า "ผม หรือ ดิฉัน ไม่ค่อยมีเวลาเลยงานยุ่งตลอดเลย" โดยความคิดเห็นส่วนตัว ของผมนะครับ ผมว่า การแบ่งเวลาเพื่อ ออกกำลังกายแค่วันละ 20 - 30 นาที ต่อวันมันคุ้มมากครับ เพราะมันทำให้คุณ มีสุขภาพแข็งแรง และมีอายุยืนยาว ขึ้น ยกตัวอย่างนะครับ หากเราทำงานอย่างเดียว ไม่ออกกำลังกายเลย หาเงินมาได้มากมาย แต่ผลสุดท้าย กลับไม่ได้อยู่ใช้เงินที่หามาได้ ด้วยน้ำพักน้ำแรงของเราเอง หลายท่านอาจคิดว่า ก็หาให้ลูกหลานใช้ไงหละ! ผมก็ว่าถูกนะ แต่ถ้าหากคุณออกกำลังกาย และใส่ใจสุขภาพ ของตัวเอง คุณอาจจะยืดเวลาหาเงิน ของคุณออกไปได้อีกหลายสิบปี คือหากคุณมีสุขภาพแข็งแรงคุณก็จะสามารถ หาเงินได้มากขึ้น พูดแบบนี้คงถูกใจหลายใจหลายๆ คนเลยนะครับ

งั้นเรามาเข้าเรื่องการปั่น จักรยาน สำหรับผู้ที่มีอายุเยอะๆ กัยเลยนะครับ สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป การออกกำลังกายมักจะมีอุปสรรค หลายอย่าง เพราะสภาพร่างการนั้น จะให้เหมือนตอนหนุ่มๆ สาวๆ นั้นคงเป็นไปไม่ได้ครับ ทำอะไรนิดๆ หน่อยก็จะรู้สึกเหนื่อย หรือปวดเมื่อยได้ง่ายกว่า ซึ้งได้มีผลงานวิจัยของหลายๆ สถาบัน ได้ระบุว่าการออกกำลังกายด้วย การปั่น จักรยาน นั้นเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ เพราะว่า การปั่น จักรยาน จะทำให้ระบบข้อต่อกระดูกของร่างกาย ได้รับการกระทบกระเทือนน้อย กว่าการวิ่ง ซึ่งการออกกำลังกายด้วยการปั่น จักรยาน นั้นจะทำให้ข้อต่อกระดูก ทำงานไม่หนักเกินไป เพราะผู้สูงอายุ เราๆ ท่านๆ ก็คงทราบกันดีว่ามีปัญหา เกี่ยวกับกระดูก และข้อต่อกันเยอะมาก ซึ่งการปั่นจักรยาน สามารถช่วยได้

ผมขอยกตัวอย่าง คุณตาคนหนึ่งนะครับ เมื่อประมาณ หลายเดือนก่อนคุณ พ่อผมไม่ค่อยสบายผมเลยพาท่านไปโรงพยาบาล ระหว่างรอการรักษาผมได้สังเกตุเห็น คุณตาคนหนึ่งครับ แกกำลังนั่งพักอยู่บนรถ สามล้อถีบ คู่ใจของแกอยู่ ผมเลยเข้าไปคุยด้วย เพราะว่าผมสงสัยว่าท่านอายุเยอะแล้ว ทำไม ยังต้องมาปั่นสามล้อเลี้ยงชีพอยู่ หลายคนอาจจะงงครับ "จักรยานสามล้อ หมายถึง จักรยาน ที่ใช้รับส่งแม่ค้าตามตลาดสมัยก่อน ไงครับ ทางภาคเหนือจะเห็นได้เยอะครับ แต่ไม่ค่อยมากเหมือนแต่ก่อน" ซึ่งผมได้เข้าไปถามแกว่า คุณตาอายุเยอะแล้วยังมีแรงปั่นสามล้อ อยู่อีกหรือครับ แก ก็ตอบว่า "แกปั่น จักรยาน สามล้อมาตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มๆ ลูกแกก็ห้ามแล้ว แต่แกบอกว่ามาปั่นออกกำลังกาย เพราะว่าหากวันไหน แก ไม่ได้ปั่นจะรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว" ผมเลยถามต่อไปอีกว่า คุณตาอายุเท่าไหล่แล้วครับ ท่านตอบว่า 80 กว่าแล้ว ผมยังนึกในใจว่าไม่น่าจะ ถึงเพราะผมดูท่านเข็งแรงเหมือน คนอายุประมาณ 60 กว่าๆ เองครับ

อยากปั่นจักรยานให้แรง และเร็วเหมือนหนุ่มๆ จะทำอย่างไรดีหนอ?

  1. อันดับแรกเลยนะครับ สำหรับผู้ที่มีอายุ 50 ขึ้นไปควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อเช็คร่างกาย ก่อนครับ ว่าร่างกายของเราสามารถออกกำลังกายได้ถึงระดับไหน แพทย์เขาสามารถคำนวนได้ครับ ว่าอายุเราควรจะออกกำลังได้ เข้มข้นแค่ไหน
  2. อุปกรณ์ วัดระดับการเต้นของหัวใจ หรือ ที่ฟรั่งเขาเรียกว่า "Heart rate monitor" ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวผมถือว่า สำคัญมากครับ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่ต้องการออกกำลังกาย แบบจริงจัง เพราะมันจะช่วย ให้ท่านออกกำลังกายได้ อย่างปลอดภัย โดยไม่หักโหมเกินไป และยังสามารถทำให้ มีพัฒนาการใน การฝึกซ้อมดีขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วยครับ ทุกวันนี้เวลาผมออกไปปั่น จักรยาน อุุปกรณ์ตัวนี้ ผมขาดไม่ได้เลยครับ ในปัจจุบันราคาไม่แพงเหมือนแต่ก่อนแล้วครับ ประมาณ พันกว่าบาทเองครับ แต่ประโยชน์ที่ได้รับผมว่าคุ้มค่ามากครับ ของผม 5 ปีแล้วยังใช้งานได้ดีอยู่เลยครับ
  3. เริ่มต้นฝึกด้วยการทำความคุ้นเคยกับ จักรยาน ของท่านก่อนครับ คือประมาณปั่นเล่น ไปเลื่อยๆ หรือที่เขาเรียกว่าปั่นชมวิวนั่นแหละครับ พยายามปั่นจักรยานให้มีความสุขครับ อย่าไปมุ่งเน้นแต่ความเร็วมากเกินไป เพราะจะทำให้เราเบื่อ หน่ายกับการปั่น จักรยาน เร็วขึ้นครับ ซึ่งในขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาน 20 - 30 นาที / วัน เป็นเวลา 3 - 4 อาทิตย์ โดยในขั้นตอนนี้เป็นเหมือนการ เตรียมร่างกายให้พร้อมก่อน จะการฝึกซ้อมแบบจริงจังหรือ เข้มข้นขึ้นนั่นเองครับ
  4. หลังจากทำความคุ้นเคยกับ จักรยาน คันโปรดจน ชำนาญแล้วคราวนี้ เราก็จะเริ่มเข้าสู่การฝึกอย่างจริงจังแล้วครับ โดยตารางการฝึกซ้อมผมได้เขียนไว้ก่อนหน้านี้แล้วครับ คือ บทความ เกี่ยวกับการปั่นจักรยาน สำหรับผู้เริ่มต้น ผมได้เขียนแนะนำไว้แล้วครับลองอ่านดูนะครับ

ถ้าหากท่านทำได้ตามที่กล่าวมาข้างต้น และมีวินัยในการฝึกซ้อม ท่านจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างแน่นอนครับ แต่ท่านต้องอดทนหน่อยนะครับ เพราะว่าขีดจำกัดทางด้านร่างกาย ของผู้สูงอายุนั้น จะเทียบกับหนุ่มๆ สาวๆ นั้นคงจะไม่ได้ครับ เช่น ร่างกายของผู้สูงอายุจะใช้เวลาในการ ฟื้นตัว ช้าว่า พวกหนุ่มสาว ครับ เหตุนี้เองครับทำให้ เด็กหรือ หนุุ่มๆ สาวๆ มีพัฒนาการในการฝึกซ้อม จักรยาน ได้เร็วกว่า ผู้ที่มีอายุเยอะๆ ครับ ไม่แน่นะครับหากท่านตั้งใจจริง หนุ่มๆ อาจจะต้องหลีกทางให้ท่านก็เป็นได้ครับ