การแข่งขัน จักรยาน รายการต่างๆ ที่น่าสนใจ

รวบรวมการแข่งจักรยาน รายการต่างๆ ที่น่าสนใจ ในส่วนนี้ ผมจะพยายาม หามาฝาก ให้ได้มากขึ้นครับ

จักรยานเสือภูเขา

สำหรับ ท่านที่เป็นแฟน จักรยานเสือภูเขา ทางผมจะพยายาม นำเรื่องราว เกี่ยวกับจักรยานประเภทนี้มานำเสนอให้มากขึ้น ครับ ที่ผ่านมา ผมคิดว่ามันยังน้อยอยู่ โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยถนัด ทางเสือภูเขามากเท่าไหร่ครับต้องขออภัย ไว้ล่วงหน้าหากมีข้อมูลผิดพลาด ครับ

อะไหล่ จักรยาน และเทคโนโลยี ต่างๆ

ในปัจจุบัน มีการพัฒนาไปมากครับ จนเราๆ ท่านๆ แทบจะหาเงิน มาเปลี่ยน อะไหล่พวกนี้กันแทบไม่ทัน ใครที่มีทุนมากหน่อย ก็สบายหน่อยครับ ได้ใช้ของใหม่ ก่อนใครเพื่อน ส่วนใครทุนน้อย ก็คงต้องรอของมือสองกันละครับ

จักรยาน BMX

จักรยาน BMX เป็นจักรยานที่ได้รับความนิยม มาอย่างยาวนาน และการพัฒนาของจักรยานประเถทนี้ ก็ไม่ได้น้อยหน้ากว่า จักรยาน ประเภทอื่นเลยครับ

จักรยาน ไทม์ไทรอัล

จักรยาน ประเภท ไทม์ไทรอัล หรือที่ใครหลายคน เรียกว่าจรวจทางเรียบ นั่นแหละครับ

วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555

วิธีปะยางจักรยาน

วันนี้ผมออกไปปั่นจักรยานเพื่อออกกำลังกายตามปรกติ พอปั่นไปได้ประมาณ 20 กว่ากิโลเมตร ผมสังเกตุ เห็นยางจักรยานด้านหลัง มันจะยวบๆ ผิดปรกติ ผมเลยจอดแล้วลองเอามือ ขวาบีบดู ก็รู้ทันทีว่า โดนแจ๊กพอตแล้วเรา เพราะมันน่วมเลย แต่ยังโชคดีที่รูมันไม่ค่อยใหญ่มาก แค่ซึมๆ ผมเลยรีบปั่นกลับบ้านทันที เพราะวันนี้ผมไม่ได้พกยางอะไหล่มาด้วยครับ ตอนปั่นกลับก็สังเกตุไปด้วยว่ายางมันแบนกว่าเดิมมากหรือเปล่า ถ้าแบนมากผมถึงจะจอดแล้วเปลี่ยนยางใน แต่มันแค่ซึมเลยสามารถปั่นประคอง กลับถึงบ้านได้พอดีครับ นี่ขนาดว่าผมเป็นคนที่สังเกตุเส้นทางตอนปั่นดีแล้วนะครับยังพลาดได้ อย่างนี้คงต้องโทษพวกคนที่มักง่าย ชอบทิ้งขวดแก้วเปล่าตามข้างทาง ผมขอบ่นหน่อยนะครับ เวลาผมออกไปปั่นจักรยาน จะเจอบ่อยมากครับ พวกขวดเบียร์, ขวดเครื่องดื่มชูกำลังทั้งหลาย ไม่รู้ว่าเขาทิ้งลงมากันได้ยังไง ผมว่าพวกนี้บาปมากครับ ไม่คำนึงถึงตอนพระท่านออกบิณฑบาต ตอนเช้าๆ ท่านอาจโดนเศษแก้วเหล่านี้บาดเท้าเอาได้ครับ ผมไม่ชอบเลยครับพวกมักง่ายพวกนี้ บางทีปั่นจักรยานออกกำลังกายไป ก็เห็นเขาขว้างออกมากจากรถซะงั้น เห็นแล้วเพลียใจจริงๆ ครับพวกนี้

ไหนๆ ยางก็รั่วไปแล้วก็ต้องกลับมาปะกันละครับทีนี้ วันนี้ผมเลยจะมาแชร์ วิธีปะยางรถจักรยาน ให้เพื่อนๆ ได้ทำกันเองได้ครับ หลายคนอาจจะยังทำไม่เป็น ส่วนท่านที่ทำเป็นแล้วก็อ่านอีกได้ครับ เพราะวิธีของผมอาจจะไม่เหมือนใคร เพราะผมเป็นคนค่อนข้างละเอียด เวลาทำอะไรแล้วต้องทำให้ดีครับ เปรียบได้กับงานศิลปะ ที่ต้องทำให้เนียนครับ เพ้อไปนั่น!! งั้นเรามาดูกันเลยครับ ว่าทำกันยังไง

อุปกรณ์ในการปะยางจักรยาน


อุปกรณ์ในการปะยางจักรยาน

  1. อุปกรณ์สำหรับงัดยางออกมาจากขอบล้อ ที่เห็นเป็นสีขาว, น้ำเงิน และแดง นั่นแหละครับ โดยส่วนตัวผมจะไม่ใช้ที่มันโลหะครับเพราะว่า มันจะทำให้ขอบล้อของเราเป็นรอยได้ง่ายครับ ผมเลยเลือกที่เป็นพลาสติก ถึงจะเป็นพลาสติกแต่ทนมากนะครับ ชุดนี้ผมซื้อมาได้เกือบ 3 ปีแล้วครับยังใช้งานได้ดีอยู่ครับ
  2. กระดาษทรายใช้เบอร์ประมาน 180 กระดาษทราย เบอร์ยิ่งเยอะยิ่งเนื้อหยาบครับ เช่น เบอร์ 1000 นี้ละเอียดมากครับ แต่มันใช้ปัดยางไม่ค่อยเข้าครับ ผมจะแนะนำให้ใช้ ระหว่าง เบอร์ 150 - 180 ครับผมคิดว่ากำลังดีเลยสำหรับยางรถจักรยาน ครับ
  3. กาวสำหรับปะยางครับ หลอดละ 5 บาท เดี๋ยวนี้ราคาอาจจะขึ้นแล้วครับ ผมว่าไม่น่าเกิน 10 บาทครับ หรืออาจจะซื้อเป็นกระป๋องก็ได้ครับ ยี่ห้อ KKK หากใครจะรับจ๊อบหารายได้พิเศษด้วยการบริการรับปะยาง ผมแซวเล่นนะครับ!!
  4. ยางสำหรับปะแบบสำเร็จรูปครับ อันละ 1 - 2 บาท แล้วแต่ร้านที่เราไปซื้อครับเขาขายราคาไม่เท่ากันครับ
  5. ส่วนที่เห็นเป็นน็อต สีทองๆ นั้นไม่เกี่ยวครับ พอดีมันแอบมาโชว์ตัว หลายท่านอาจไม่ทราบครับว่ามันมีไว้ทำอะไร ผมบอกให้ก็ได้ครับ มันเป็นอแดปเตอร์ สำหรับต่อที่จุกลมจักรยานเสือหมอบ ครับให้เราสามารถสูบลม โดยใช้ที่สูบลมทั่วไปได้ครับ ผมจะเอาติดตัวไปด้วยครับเวลาออกไปปั่นจักรยาน เพราะหากเกิดยางรั่วขึ้นมา หากเราเปลี่ยนยางแล้ว เวลาเราสูบลมเข้าไปโดยใช้ที่สูบลมแบบพกพา มันจะสูบได้ไม่แข็งครับ ผมเลยพกเจ้าน็อตตัวนี้ไปด้วยเผื่อเวลาเจอปั้มน้ำมัน หรือร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ จะได้เข้าไปสูบลมเพิ่มให้แข็งตามต้องการได้ครับ ผมว่ามันสำคัญนะครับ

ขั้นตอนในการปะยางรถจักรยาน


  1. ใช้ที่งัดยางทำการงัดยาง ออกมาจากขอบล้อจักรยาน ขั้นตอนนี้ผมไม่ได้ถ่ายรูปไว้ผมต้องขออภัยไว้ด้วยครับ
  2. สูบลมยางจักรยานนำยางในออกมาสูบลมเข้าพอประมานตามรูปครับ ไม่ต้องสูบเยอะครับแค่พอประมาณก็พอครับแล้วนำไปจุ่มน้ำเพื่อหารอยรั่วครับ






  3. ทำเครื่องหมายรอยรั่วจักรยานพอเราเจอรอยรั่ว แล้วเราก็ใช้ปากกาทำเครื่องหมายไว้ครับ สังเกตุ ผมจะวงกลมไว้ แล้วใช้กระดาษทรายที่เราเตรียมไว้ขัดรอบๆ จุดที่เราทำเครื่องหมายไว้ก่อนจะได้ไม่หลงครับ พอขัดรอบๆ เสร็จเราก็ขัดตรงกลางที่เราทำเครื่องหมายไว้ได้เลยครับ ส่วนจะขัดให้กว้างขนาดไหนนั้น เราจะขัดให้กว้างกว่า ที่ปะยางสำเร็จรูปนิดหน่อยครับ เวลาขัดก็ไม่ต้องออกแรงกดมากครับแค่ลูบๆ ก็พอครับเดี๋ยวยางทะลุครับ จุดประสงค์แค่ให้พื้นผิวสะอาดก่อนที่เราจะทากาวแค่นั้นเองครับ
  4. ทากาวยางจักรยานพอขัดเสร็จก็ทากาวได้เลยครับ ทาให้ทั่วตรงบริเวณที่เราขัดทำความสะอาดครับไม่ต้องหนามากครับพอดีๆ แล้วทิ้งไว้ประมาณ 2- 3 นาที เพื่อให้กาวแห้ง และหายเยิ้มครับ




  5. ที่ปะยางจักรยานสำเร็จรูปนำที่ปะยางสำเร็จรูปแปะไปตรงที่เราทากาวไว้ครับ แล้วบีบนวดให้แน่นๆ เพื่อให้ทั้งสองส่วนติดกันดีขึ้นครับ







  6. ปะยางจักรยานสำเร็จแล้วลอกแผ่นลองยางสำเร็จรูปออกครับ จะได้ยางที่ปะแล้วอย่างสวยงาม แล้วสามารถนำไปใช้ในโอกาสต่อไปได้ครับ ประหยัดดีครับ ไม่ต้องซื้อใหม่บ่อยๆ





  7. ยางจักรยานเมื่อปะแล้วม้วนยางที่เราทำการปะแล้ว เก็บให้เรียบร้อยสวยงาม โอ้ว!! เหมือนตอนที่ซื้อมาใหม่ๆ เลย แต่ขอโทษ เส้นนี้ 2 แผลแล้วครับ ประหยัดเงินในการเป๋าไปได้ 200 กว่าบาท อีกต่างหาก




และแล้วเราก็ได้ยางที่ทำการปะเรียบร้อยแล้ว เราก็สามารถนำติดตัวไว้ เวลาออกไปปั่นจักรยานครั้งต่อไป เพื่อเป็นยางอะไหล่ เวลาเกิดยางรั่วได้ครับ เห็นไหมครับว่ามันไม่ยากเลย ลองหัดทำดูกันได้ครับ แถมยังประหยัดเงินอีกด้วยครับ ก่อนปะก็ดูสภาพยางก่อนนะครับ หากมันดูเปื่อยยุ่ย มีรอยถลอกเยอะๆ ก็ควรเปลี่ยนใหม่ดีกว่าครับ


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ: เกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆในการดูแลรักษาจักรยาน

วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆในการดูแลรักษาจักรยาน

ดูแลยางจักรยาน

จักรยานก็ต้องการการดูแลรักษาบ้างครับ ไม่ว่าจักรยานนั้นจะราคาถูก หรือแพงก็มีโอกาสพังได้เช่นกันครับ หากขาดการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องทำทุกวันก็ได้นะครับเดียวคนเห็นเข้า เขาจะหาว่าเราบ้าเกินไป แต่ผมไม่แคร์สื่อครับ หากผมออกไปปั่นจักรยาน กลับมาผมต้องเช็คระบบ และทำความสะอาดมันทุกครั้งครับ จนคนทั่วไปจากที่ว่าผมบ้า ก็เฉยไปเลยครับหลังๆ ไม่เห็นว่าอะไรครับได้แต่ดู อยู่ห่างๆ หากเป็นสมัยที่ผมยังปั่นจักรยานแข่งขันอยู่ ช่วงนั้นหายใจเข้าออกก็เป็นจักรยานหมดครับ เช็ดมันได้ทุกวัน ขนาดไม่ได้ออกไปปั่นยังเอามาเช็ดเลยครับ หลายคนที่รักจักรยาน คงเข้าใจความรู้สึกนี้ดีครับ และยังมีเกร็ดเล็กน้อยที่หลายคนอาจจะมองข้ามไป แต่ผมว่ามันสำคัญนะครับ ถึงจะเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยทำกัน วันนี้ผมเลยจะมาแชร์ ประสบการณ์เหล่านี้ให้ผู้ที่ยังไม่รู้ได้ทราบกันครับ ซึ่งมีดังต่อไปนี้ครับ

สิ่งเล็กๆน้อยๆที่ไม่ควรมองข้ามในการดูแลรักษาจักรยาน


  • การปล่อยลมยางทุกครั้งหลังจากออกไปปั่นจักรยานกลับมา ซึ่งข้อนี้เป็นข้อที่ทุกคนที่เห็นผมทำจะถามเสมอว่าผมปล่อยยางรถผมทำไม ผมก็ตอบไปว่าเพื่อรักษาสภาพยางให้สามารถ ใช้ได้นานๆ คือยึดอายุการใช้งานของยางได้ครับ เพราะว่าเราออกไปปั่นจักรยาน ซ้อมแต่ละครั้งนั้นนักปั่นคงรู้ว่าเราต้องสูบลมเข้าไปในยางไม่ต่ำกว่า 80 P.S.I. กันเลยทีเดียว บางท่านอัดไปจนเต็มที่เลยครับ คือ 120 - 150 P.S.I. ดังนั้นยางจึงได้รับความกดดันสูง หากเราไม่ปล่อยลมยางออก เมื่อปั่นเสร็จจะทำไห้ยางมีอายุการใช้งานน้อยลงนั้นเองครับ โดยการปล่อยลมยางนั้นไม่ต้องปล่อยจนแบนนะครับ แค่พอบีบแล้วรู้สึกนิ่มๆ ก็พอครับ
  • ปลดเบรคจักรยาน ปลดเบรคจักรยานขึ้น คลายก้ามเบรคทุกครั้งหลังจากปั่นจักรยานเสร็จ เพื่อยึดอายุการใช้งานสปริงของก้ามเบรคครับ ซึ่งผมได้ถ่ายรูปรถจักรยานของผมเองมาครับ หลายคนคงงงว่าผมยังใช้ก้ามเบรคระบบนี้อยู่หรือ มันเป็นของที่ผมซื้อไว้สมัยก่อนตอนผมยังเด็ก แต่ไม่ได้ใช้ครับ ตอนผมประกอบรถคันนี้เลยทุ่นเงินไปได้หลายตังเลยครับ เป็นรุ่น 105 ของยี่ห้อ SHIMANO ครับเดี๋ยวนี้ไม่มีขายแล้วครับ 105 รุ่นไหม่ก็ไม่ใช้ระบบนี้แล้วเปลี่ยนเป็นระบบดึงคู่หมดครับ แต่ส่วนตัวผมชอบระบบนี้มากกว่า เพราะมีความยืดหยุ่นกว่าในการปรับแต่งครับ




  • ปลดระบบเกียร์ลงมาที่ระดับต่ำสุด ทั้งหน้า และหลังครับ ทำเพื่อยึดอายุสปริงของระบบเปลี่ยนเกียร์ครับให้มันได้อยู่กับเราไปนานๆ ครับ เช่นเฟืองหลังก็ปรับไปที่ใบเล็กสุด ส่วนจานหน้าก็ปรับไปที่ใบเล็กสุดเช่นกันครับลองดูที่รูปครับ ผมถ่ายมาแต่มันไม่ค่อยชัดครับ ผมถ่ายภาพไม่เก่งครับออกตัวไว้ก่อนอย่าบ่นผมนะครับ

  • หลังปั่นจักรยานกลับมาก็เช็ดมันเสียหน่อยนะครับ ส่วนตัวผมใช้ของ 3M ครับที่คุณแม่บ้านเอาใว้เช็ดครัวนั่นแหละครับ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันครับว่าเขาเรียกว่าอะไร ผมเห็นมันซับน้ำได้ดี เวลาเราเช็ดรถ มันจะไม่มีคราบน้ำ ติดที่รถเวลาเราเช็ดครับ ใช้เช็ดรถยนต์ก็ได้ครับ ซับน้ำได้ดีมากเลยครับ ของผมที่ถ่ายมาให้ดูมันเก่าหน่อยนะครับ ถึงจะเก่าแต่ไม่มีขุยเลยครับ ใช้เช็ดคราบเหงื่อเวลามันหยดลงบนจักรยาน เพื่อไม่ให้จักรยานขึ้นสนิมได้ง่ายครับ (สำหรับผู้ที่ยังใช้เฟรมเหล็ก ควรดูแลเป็นพิเศษนะครับ) ส่วนตัวผมจะเช็ดแบบ ง่ายๆ ครับ ส่วนเช็ดแบบละเอียดผมจะทำประมานเดือนละ 2 ครั้ง (แบบละเอียดคือเช็ดทุกซอกทุกมุมของจักรยานเลยครับ)
  • ทำความสะอาดโซ่จักรยาน สำหรับจุดนี้ผมจะทำ เว้นครั้งเอาครับ คือปั่นสองวันทำความสะอาด 1 ครั้ง ส่วนการล้างโซ่จักรยาน ผมจะทำทุกๆ 500 กิโลเมตรครับ หากใครทำบ่อยๆ ก็ไม่เป็นไรครับ ยิ่งดีเลยครับช่วยยึดอายุ การใช้งานของชิ้นส่วนดังกล่าวได้เป็นอย่างดีเลยครับ ยิ่งโซ่จักรยานสมัยนี้ เล็กและบางกว่าแต่ก่อนมาก การดูแลอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในจุดนี้ได้ครับ ผมสังเกตุว่าโซ่จักรยานสมัยนี้อายุการใช้งานสั่นกว่าสมัยก่อนมากครับ คือโซ่จะยืดเร็วมากดังนั้นในจุดนี้เราควรดูแลเป็นพิเศษกันหน่อยครับ

ที่ผมได้เล่ามาข้างบนเป็นจุดเล็กๆน้อยๆ ที่หลายคนอาจมองข้าม หรือบางคนอาจจะไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่า สิ่งเหล่านี้เราต้องทำด้วยหรือ หากใครไม่ได้คลุกคลีในวงการนี้จริงๆ อาจไม่ทราบเลยครับ เพราะจะเป็นสิ่งที่รุ่นพี่ๆ บอกต่อกันมาถึงรุ่นเราๆ นี้แหละครับ ยกตัวอย่างเช่น ศัพท์ต่างๆ ที่นักปั่นจักรยานเขา คุยกันเช่นคำว่า "หลุด" คนทั่วไปไม่ทราบหลอกครับมันมันหมายถึงอะไร แต่หากเป็นนักปั่นจักรยาน จะทราบดีครับ และผมมั่นใจว่านักปั่นทุกคนเคยประสบกับมันมาแล้ว ซึ่งหากท่านใดอยากทราบว่า"หลุด" หมายถึงอะไร บทความเก่าๆ ผมได้อธิบายไว้แล้วครับ ลองตามไปอ่านกันได้ครับ บทความนี้ครับ ภาษา จักรยาน ที่ท่านคุ้นเคย แล้วคุณจะทราบว่านักปั่นทำไมต้องเจอกับคำนี้ทุกคนครับ


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ : มาปั่นจักรยานไปทำงานกันนะครับ